เราจะเปลี่ยนโลกก่อนที่โลกจะเปลี่ยนเราได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่คนคิดการใหญ่คงไม่กล้าท้าทายจะเปลี่ยนโลกแน่ๆ เชื่อหรือไม่ว่า “การคิดการใหญ่” เป็นทักษะสำคัญของมหาเศรษฐีแถวหน้าของโลกที่ผลักดันให้พวกเขาทำเรื่องกล้าหาญและสร้างผลกระทบยิ่งใหญ่ได้ชนิดพลิกโฉมหน้าโลก
ตัวอย่างของการคิดการใหญ่แล้วสามารถเปลี่ยนโลกไปตลอดกาล ก็มีตั้งแต่สตีฟ จ็อบส์, เจฟฟ์ เบซอส, ริชาร์ด แบรนสัน, แลร์รี เพจ ไปจนถึงอีลอน มัสก์ พวกเขาต่างมีทักษะโดดเด่นเหมือนกันคือการคิดการใหญ่ ซึ่งเป็นแรงผลักดันสำคัญให้ทุ่มเททำเรื่องกล้าหาญและสร้างผลกระทบแบบบิ๊กอิมแพ็ก สามารถเปลี่ยนชีวิตของชาวโลกได้ในชั่วพริบตา
คนทั่วไปมักถูกฝึกฝนให้ประมวลผลทุกอย่างด้วยความเรียบง่ายตามศักยภาพและนึกภาพโครงการขนาดใหญ่ไม่ออก แต่คนที่เกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลกอย่างพวกเขากลับคิดเล็กๆไม่เป็น มองเห็นแต่ภาพใหญ่โตมโหฬาร เรียกว่าจะลงมือทำอะไรทั้งทีก็ต้องให้ลือลั่นทั้งโลก
ในหนังสือ “BOLD” ถ้าคุณไม่เปลี่ยนโลก โลกก็จะเปลี่ยนคุณ ของ “ปีเตอร์ ไดอามันดิส” และ “สตีเวน คอตเลอร์” สรุปกลวิธีการคิดสำคัญที่ทำให้คนอย่างสตีฟ จ็อบส์, เจฟฟ์ เบซอส, ริชาร์ด แบรนสัน, แลร์รี เพจ ไปจนถึงอีลอน มัสก์ กลายเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโลกที่โดดเด่นเหนือใคร
สรุปได้ 8 ข้อคือ 1) ความกล้าเสี่ยงและการลดความเสี่ยง 2) การทำซ้ำอย่างไวและทดลองไม่หยุด 3) แรงใจและเป้าหมายในชีวิต 4) การมองการณ์ไกล 5) การคิดแบบให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 6) การคิดแบบความน่าจะเป็น 7) มองโลกแง่ดีอย่างมีเหตุผล 8) การยึดหลักความจริงตามพื้นฐานต่างๆ
ถ้าไม่นับ “สตีฟ จ็อบส์” ซึ่งลาโลกไปแล้ว คงต้องยกให้ “อีลอน มัสก์” เป็นผู้พลิกโฉม หน้าโลกที่โดดเด่นที่สุด และเขาคนนี้เองคือต้นแบบของไอรอนแมน!! ในช่วงแรกของการสร้างภาพยนตร์ “ไอรอนแมน” ผู้กำกับมีปัญหาว่าจะทำอย่างไรให้เรื่องนี้ดูสมจริง ตัวละครหลักของเขาคือ “โทนี สตาร์ก” มหาเศรษฐีพันล้าน เป็นอัจฉริยะและเป็นยอดมนุษย์ ฟังดู
ยิ่งใหญ่เกินความจริง แต่ “โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์” ผู้รับบทไอรอนแมน เสนอแนะว่าเราควรไปนั่งคุยกับ “อีลอน มัสก์” ซึ่งมันก็ถูกเผงเลย
...
แม้ว่า “อีลอน มัสก์” จะยังไม่ได้สร้างชุดไอรอนแมน แต่เขาก็ได้ปฏิวัติวงการต่างๆมาแล้วอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิวัติวงการธนาคารด้วยการสร้าง PayPal, ปฏิวัติวงการการบินและทหารด้วย SpaceX, ปฏิวัติวงการรถยนต์ด้วย Tesla และปฏิวัติอุตสาหกรรมอวกาศด้วยการพาชาวโลกไปใช้ชีวิตบนดาวอังคาร
“ผมไม่ได้เข้าสู่วงการจรวด วงการรถยนต์ หรือวงการพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะคิดว่าเป็นโอกาสครั้งใหญ่ ผมแค่คิดว่าจะทำอะไรสักอย่างเพื่อเปลี่ยนสถานการณ์ ผมอยากทำให้มันมีผลกระทบ อยากสร้างของที่ดีกว่าของที่เคยมีมาก่อนมากๆ” ความสำเร็จของเจ้าพ่อเทสลาล้วนขับเคลื่อนด้วยแรงใจและเป้าหมายในชีวิต ซึ่งเป้าหมายของเขาก็มักจะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ
อีกคนที่ต้องพูดถึงคือ “เจฟฟ์ เบซอส” เจ้าพ่อแอมะซอน ผู้พยายามเปลี่ยนโลกด้วยร้านขายของออนไลน์ เขาเล่าว่า สิ่งที่ทำให้ผมตาสว่างและผลักดันให้สร้าง Amazon.com ก็คือ ผมพบว่าการใช้งานเว็บไซต์ในช่วงฤดูใบไม้ผลิของปี 1994 กำลังเติบโตขึ้นในอัตราปีละ 23 เท่า แม้สมัยนั้นจะยังไม่มีงานวิจัยดีๆ แต่ผมจำได้แม่นว่า ตอนนั้นการใช้งานเว็บไซต์มันโตแบบไม่ธรรมดาจริงๆ คำถามอยู่ที่ว่าแล้วธุรกิจอะไรดีที่สุด ผมลองเขียนรายชื่อสินค้า 20 อย่างที่อยากขายบนอินเตอร์เน็ต แล้วก็เลือกหนังสือ เพราะหนังสือมีความพิเศษอยู่แง่หนึ่ง หนังสือมีจำนวนมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่นๆ ซึ่งคุณไม่สามารถเปิดร้านหนังสือในโลกความจริงที่มีหนังสือต่างกันเป็นล้านๆเรื่องได้ คอมพิวเตอร์เก่งมากในการจัดการสินค้าชุดใหญ่ๆแบบนี้
ความสำเร็จของแอมะซอนอิงยุทธศาสตร์สำคัญมาก 2 อย่างคือ การให้ลูกค้าเป็นศูนย์กลางอย่างสุดโต่งและการมองการณ์ไกล ในขณะที่คนอื่นมักตั้งคำถามว่าอีกสิบปีจะมีอะไรเปลี่ยนไปบ้าง สำหรับเจ้าพ่อแอมะซอนแล้ว เขาสนใจมากกว่าที่จะตอบคำถามว่าอีกสิบปีจะมีอะไรบ้างที่ไม่เปลี่ยนแปลง เพื่อที่ว่าจะได้สามารถวางยุทธศาสตร์ทางธุรกิจจากสิ่งต่างๆที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา สำหรับธุรกิจค้าปลีกแล้ว สิ่งที่จะไม่เปลี่ยนเลยคือ ลูกค้าอยากได้สินค้าราคาถูก อยากให้ของส่งถึงไวๆ และอยากให้มีของให้เลือกมากๆ นี่คือสัจธรรมที่ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง.
มิสแซฟไฟร์