หลายประเทศทั่วโลกต่างกำลังแสวงหาแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน แหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แผงพลังงานแสงอาทิตย์หรือแผงโซลาร์เซลล์ จึงเป็นที่ต้องการสูง ทว่าแผงพลังงานชนิดนี้อาจกินพื้นที่มากและมักจะปรับขนาดได้ยาก ทำให้ท้าทายนักวิทยาศาสตร์ในการหาหนทางประยุกต์ใช้แผงพลังงานโซลาร์โดยไม่ต้องใช้ที่ดินขนาดใหญ่
ล่าสุดทีมวิจัยนำโดยหยาง หยาง นักวิทยาศาสตร์ด้านวัสดุศาสตร์จากวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ซามูเอลี แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส ในสหรัฐอเมริกา ได้พัฒนากลยุทธ์เพื่อเพิ่มแผงโซลาร์เซลล์อินทรีย์กึ่งโปร่งใส โดยอาศัยวัสดุที่มีคาร์บอนเป็นหลัก ซึ่งตรงข้ามกับสารอนินทรีย์ในอุปกรณ์ทั่วไป และได้รวมชั้นของสารเคมีที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติที่เรียกว่าแอล-กลูตาไธโอน (L-Glutathione) พบว่าการเติมสารนี้ช่วยยืดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ ปรับปรุงประสิทธิภาพ และยังช่วยให้แสงแดดเข้าถึงได้อย่างเพียงพอ ทีมได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ไว้กับหลังคาเรือนกระจกต้นแบบที่ปลูกต้นไม้ไว้ภายใน มีขนาดเท่าบ้านตุ๊กตาหลังเล็กๆ
ทีมติดตามการเติบโตของพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเขียว บรอกโคลี ที่สาธิตปลูกในเรือนกระจกที่แยกจากกัน โดยเรือนหนึ่งมีหลังคากระจกใสที่มีแผงโซลาร์เซลล์แบบอนินทรีย์ ส่วนอีกเรือนมีหลังคาที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบอินทรีย์กึ่งโปร่งแสง ทีมพบว่าพืชผลในเรือนกระจกที่มีหลังคาแผงโซลาร์เซลล์แบบอินทรีย์เติบโตมากกว่าแผงโซลาร์เซลล์แบบอนินทรีย์ นักวิจัยเชื่อว่าเป็นเพราะสารแอล-กลูตาไธโอนได้ขัดขวางรังสีอัลตราไวโอเลตและรังสีอินฟราเรด เพราะรังสีเหล่านี้ยับยั้งการเจริญเติบโตของพืช อาจทำให้เรือนกระจกร้อนเกินไปจนพืชที่อยู่ข้างในต้องการน้ำมากขึ้น.
Credit : Yang Yang Laboratory/UCLA