คาร์บอนไดออกไซด์เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ เป็นเรื่องที่รู้กันอย่างกว้างขวางอยู่แล้ว เมื่อเร็วๆนี้ ร.ศ.จอช เกรย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อมจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สเตท ในสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ในขณะที่เราทำงานเพื่อคาดการณ์สภาพอากาศในอนาคต คำถามสำคัญคือจะเกิดอะไรขึ้นกับพืช ซึ่งเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
การที่อุณหภูมิจะสูงขึ้น ฤดูกาลสำหรับเพาะปลูกก็จะยาวนานขึ้นในหลายภูมิภาค แต่นักวิทยาศาสตร์ยังสงสัยและไม่รู้แน่ชัดก็คือ อุณหภูมิจะส่งผลต่อการหมุนเวียนของคาร์บอนระหว่างพืชและชั้นบรรยากาศอย่างไร อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังหมายถึงการเติบโตของพืชใหม่ๆในบางพื้นที่ด้วย จึงมีความพยายามหาวิธีติดตามและไขข้อสงสัย เพราะอีกเรื่องที่ชวนกังวลก็คือ อุณหภูมิที่สูงขึ้นอาจรบกวนการสังเคราะห์แสงของพืช
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา สเตท พบวิธีที่เชื่อว่าจะได้ผลเป็นที่น่าพอใจ นั่นคือใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและเซ็นเซอร์มาประเมินการเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตของพืชทั่วโลกที่เผชิญกับภาวะโลกร้อน พวกเขาระบุว่าได้ใช้การวัดแสงอินฟราเรดจากดาวเทียมตั้งแต่ปี 2543-2557 เพื่อวัดมวลชีวภาพของใบพืช ซึ่งพืชไม่สามารถใช้แสงอินฟราเรดในการสังเคราะห์แสงได้ ดังนั้น พวกมันจึงสะท้อนแสง นักวิจัยพบว่าการเปลี่ยนแปลงของละแวกที่มีต้นไม้อยู่มากมายหรือปริมาณใบที่พืชสามารถงอกผลิออกมาได้ จะมีบทบาทสำคัญกับปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่พืชดักจับและกักเก็บไว้
นอกจากนี้ ยังใช้เซ็นเซอร์วัดการแลกเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ระหว่างพืชกับอากาศ เพื่อคำนวณปริมาณคาร์บอนที่พืชกำจัดออกจากชั้นบรรยากาศในแต่ละปีในระหว่างการสังเคราะห์แสงก็พบว่าปริมาณมวลชีวภาพของใบไม้หรือปริมาณใบไม้ที่พืชผลิตออกมาได้ใน 1 ปี มีผลต่อการดูดซับคาร์บอนมากกว่าการเปลี่ยนแปลงในระยะเวลาของฤดูเพาะปลูก
...
ดังนั้น ภาพถ่ายจากดาวเทียมอาจเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในการช่วยติดตามการเปลี่ยนแปลงการเจริญเติบโตของพืชและการเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรคาร์บอนเมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง รวมถึงช่วยคาดการณ์เกี่ยวกับบทบาทของพืชในการดักจับคาร์บอนในอนาคตด้วย.
ภัค เศารยะ