- สหรัฐอเมริกา และแคนาดาออกมาประกาศแบนแอป TikTok บนอุปกรณ์ของรัฐ หลังกังวลประเด็นความมั่นคงที่อาจจะถูกล้วงข้อมูลลับได้
- แคนาดานำร่องก่อน โดยให้มีผลตั้งแต่วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ เป็นต้นไป ส่วนภาคธุรกิจต่างๆ จะดำเนินการอย่างไร ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตัดสินใจ
- ขณะที่สหรัฐอเมริกาก็ประกาศแบนแอป TikTok บนอุปกรณ์ของรัฐตามมาติดๆ โดยขีดเส้นตายให้ทุกหน่วยงานของรัฐบาล ลบแอปพลิเคชัน TikTok ออกจากมือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชิ้นภายใน 30 วัน
ประเด็นความมั่นคงและการเจาะข้อมูลลับจากจีน กลายเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ทั้งสหรัฐ และแคนาดาต่างจับจ้องอย่างหนักในชั่วโมงนี้ หลังจากที่พบบอลลูนสอดแนมของจีนเข้ามาในน่านฟ้าสหรัฐฯ รวมวัตถุปริศนาที่ถูกยิงตกในแคนาดา อย่างไรก็ตาม การแบนแอปพลิเคชัน TikTok ไม่ได้เพิ่งมีการพูดถึงเป็นครั้งแรกในเวลานี้ เพราะหลายประเทศมีการสั่งแบนหรือจับตาแอปพลิเคชัน TikTok มาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนแล้ว เนื่องจากหวั่นเกรงว่าข้อมูลของประชาชนจะรั่วไหล และอาจจะเป็นภัยต่อความมั่นคงได้ ทั้งในอินเดีย ออสเตรเลีย สหภาพยุโรป เป็นต้น
...
TikTok เป็นที่รู้จักกันดีในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ในแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น ที่มีการแชร์ท่าเต้นและคลิปวิดีโอขำขัน โดยมีอัตราการเติบโตและได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แอปพลิเคชันดังกล่าวเป็นของ ไบต์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทเทคโนโลยีในกรุงปักกิ่ง ซึ่งยิ่งทำให้เกิดความกังวลว่าข้อมูลผู้ใช้งานจะถูกรัฐบาลจีนนำไปใช้งานได้
ล่าสุดรัฐบาลแคนาดาได้ออกคำสั่งแบนแอปพลิเคชัน TikTok ตามรอยสหภาพยุโรปแล้ว โดยมีผลบังคับในวันที่ 28 ก.พ. นี้ตามเวลาท้องถิ่นหลังพิจารณาแล้วว่ามีความเสี่ยงต่อความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในระดับที่ไม่สามารถยอมรับได้ โดยกำหนดให้ลบแอปพลิเคชันดังกล่าวออกจากอุปกรณ์ทุกอย่างของภาครัฐ ทั้งโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ทั้งหมด รวมทั้งปิดกั้นไม่ให้พนักงานของรัฐบาลดาวน์โหลดแอปพลิเคชันนี้ได้อีกในอนาคต
นายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ระบุว่า การตัดสินใจดังกล่าว เป็นการพิจารณาอย่างระมัดระวัง และเป็นเพียงก้าวแรกเท่านั้น โดยเขาหวังว่าอาจช่วยกระตุ้นให้ภาคส่วนอื่นๆ ในแคนาดาพิจารณาถึงเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลของตนเอง แต่จะตัดสินใจอย่างไรขึ้นอยู่กับแต่ละหน่วยงานและบุคคล
คำสั่งแบน TikTok ของแคนาดา เป็นการตามรอยแนวทางเดียวกับคณะกรรมาธิการยุโรป ที่มีคำสั่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วให้เจ้าหน้าที่ในหน่วยงานซึ่งเป็นองค์กรฝ่ายบริหารของสหภาพยุโรป ต้องลบแอปพลิเคชัน TikTok ออกจากอุปกรณ์ของที่ทำงาน รวมทั้งอุปกรณ์ส่วนตัว โดยกำหนดเส้นตายภายในวันที่ 15 มี.ค.นี้ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ โดยมีผลกับเจ้าหน้าที่และพนักงานสัญญาจ้างของคณะกรรมาธิการยุโรปรวม ประมาณ 32,000 คน ที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการนี้ หลังจากที่อินเดียได้มีคำสั่งแบนแอปพลิเคชันนี้ตั้งแต่ปี 2020
ส่วนทำเนียบขาวของสหรัฐฯ ล่าสุดก็มีการประกาศเส้นตายให้หน่วยงานรัฐบาลทุกแห่งลบแอปพลิเคชัน TikTok ของจีนบนอุปกรณ์และระบบของหน่วยงานรัฐบาลภายใน 30 วันแล้ว หลังสภาสูงโหวตเห็นชอบผ่านกฎหมายเมื่อปลายปี 2022 เนื่องจากกังวลในเรื่องความปลอดภัยด้านข้อมูล
อย่างไรก็ตาม คำสั่งนี้กระทบกับผู้ใช้จำนวนน้อย เนื่องจากไม่ครอบคลุมชาวอเมริกันมากกว่า 100 ล้านคนที่ใช้ติ๊กต่อกบนอุปกรณ์ส่วนตัวหรือของบริษัทเอกชนแต่อย่างใด
ด้าน TikTok ระบุว่า รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจดังกล่าวของแคนาดา และรู้สึกว่าเป็นการตัดสินใจที่น่าสงสัย และเป็นเพียงการเดินตามแนวทางที่สหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาตัดสินใจเท่านั้นหรือไม่ เพราะไม่ได้มีการอ้างถึงความกังวลทางด้านความปลอดภัยที่แน่ชัดและไม่ได้มีการหารือหรือสอบถามข้อสงสัยกับทางบริษัทแต่อย่างใด โดยระบุว่าความวิตกกังวลของรัฐบาลสหรัฐฯ และแคนาดา ส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแอปพลิเคชัน TikTok โดยบริษัท ไบต์แดนซ์ ยืนกรานว่าแอปพลิเคชัน TikTok ไม่ได้แอบล้วงข้อมูลของผู้ใช้งาน
...
การตัดสินใจครั้งนี้ของทั้งสหรัฐฯ และแคนาดา ย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์กับประเทศจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากเดิมที่ความสัมพันธ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้ราบรื่นนัก โดยก่อนหน้านี้แคนาดาเองก็เพิ่งมีคำสั่งให้บริษัทจีน 3 แห่งถอนการลงทุนในแร่ธาตุที่สำคัญของแคนาดา ขณะที่ก่อนหน้านั้นได้สั่งห้ามใช้อุปกรณ์ 5G ที่ผลิตโดย Huawei อีกด้วย ส่วนการตัดสินใจของสหรัฐอเมริกายิ่งเป็นการตอกย้ำจุดยืนของตัวเองอย่างชัดเจนที่จะไม่ญาติดีกับจีนแผ่นดินใหญ่ จากที่ในเวลานี้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีนก็ตึงเครียดชัดเจนอยู่แล้ว จากทั้งท่าทีที่สหรัฐฯ พยายามขุดคุ้ยเรื่องต้นตอของการระบาดของโควิด-19 ที่น่าจะมาจากการรั่วไหลจากห้องแล็บจีนอีกรอบ ท่าทีต่อไต้หวัน การกล่าวโทษจีนเรื่องบอลลูน รวมทั้งความพยายามในการจับผิดเรื่องที่จีนจะสนับสนุนอาวุธให้แก่รัสเซียอีกด้วย.
ผู้เขียน : อาจุมม่าโอปอล
ที่มา : แชนแนลนิวส์เอเชีย, บีบีซี , ซีเอ็นเอ็น