แมลงช้างปีกใส (Lacewing) เป็นแมลงประเภทหนึ่งที่มีปีกใสขนาดใหญ่ บางชนิดมีปีกกว้างถึง 65 มิลลิเมตร อาศัยอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปเป็นส่วนใหญ่ การวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่าแมลงพวกนี้เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่ส่วนใหญ่ของเอเชียเช่นกัน ปัจจุบันพวกมันจัดอยู่ในประเภทแมลงในอันดับ neuropterans ที่เก่าแก่ที่สุด โดยย้อนกลับไปประมาณ 165 ล้านปี

ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยซุนยัดเซน วิทยาเขตเซินเจิ้น ในจีน เผยผลวิจัยตัวอ่อนของฟอสซิลแมลงช้างปีกใส ซึ่งถูกค้นพบในชั้นของหินทรายเนื้อแป้งที่ถูกบีบอัดพร้อมกับแมลงโบราณอื่นๆ ในพื้นที่การก่อตัวทางธรณีวิทยาเต้าหูกั่ว (Daohugou Beds) ในมองโกเลีย ซากฟอสซิลของแมลงช้างปีกใสตัวนี้แตกต่างจากแมลงช้างปีกใสพวกอื่นๆ คือมีคอยาวเหมือนยีราฟ ยาวประมาณ 41.2 มิลลิเมตร ลำตัวขนาดใหญ่ ทีมระบุว่า นี่คือซากตัวอ่อนของแมลงในอันดับ neuropterans ที่เก่าแก่ที่สุด

ในยุคปัจจุบัน แมลงช้างปีกใสอาศัยอยู่ในบริเวณรอบๆลำธารบนภูเขาท่ามกลางเศษซากพืชที่ชื้น ส่วนตัวอ่อนอาศัยอยู่ในลำธาร การศึกษาซากฟอสซิลที่ค้นพบนี้ชี้ให้เห็นว่าตัวอ่อนอาศัยอยู่ที่ก้นทะเลสาบและทีมวิจัยได้ตั้งชื่อสายพันธุ์ใหม่นี้ว่า Palaeoneurorthus baii.