สตาร์บัคส์เครือข่ายร้านกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในโลกกล่าวว่า บริษัทกำลังเปิดตัวเครื่องดื่มกาแฟผสมน้ำมันมะกอกในอิตาลี
นายฮาวเวิร์ด ชูลท์ซ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสตาร์บัคส์ กล่าวว่า "น้ำมันมะกอกมีรสชาตินุ่มละมุนคล้ายเนยอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งช่วยเพิ่มรสชาติกาแฟและคงกลิ่นหอมในปาก"
สตาร์บัคส์เป็นหนึ่งในธุรกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ ที่เผชิญอุปสรรคในการพยายามขยายเข้าสู่ตลาดอาหารและเครื่องดื่มในอิตาลี เนื่องจากวงการกาแฟของอิตาลีมีชื่อเสียงในด้านร้านกาแฟอิสระและมักดำเนินกิจการแบบครอบครัว ทำให้ในปัจจุบันสตาร์บัคส์มีร้านประมาณ 20 แห่งในอิตาลีเท่านั้น
นายชูลท์ซกล่าวบนเว็บไซต์ของบริษัทว่า "ตอนนี้จะมีคนที่พูดว่า มีน้ำมันมะกอกในกาแฟงั้นเหรอ? แต่หลักฐานอยู่ในถ้วยนั่นเอง" พร้อมกล่าวเสริมว่า "ตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ผมจำช่วงเวลาที่ผมตื่นเต้นและกระตือรือร้นมากกว่านี้ไม่ได้เลย"
บริษัทวางแผนที่จะนำเครื่องดื่มร้อนและเย็นที่คัดสรรมาจำหน่ายในร้านสตาร์บัคส์ในพื้นที่ตอนใต้ของรัฐแคลิฟอร์เนียในสหรัฐฯ ในช่วงฤดูใบไม้ผลินี้ ที่รวมถึงสหราชอาณาจักร ตะวันออกกลาง และญี่ปุ่น ที่จะตามมาภายในปีนี้
กลุ่มผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม "โอเลียโต" (Oleato) ซึ่งเปิดตัวในวันนี้ (22 ก.พ.) ที่อิตาลี ประกอบด้วยเมนูไอซ์ เชคเก้น เอสเพรสโซ่ และลาเต้ ที่ผสมน้ำมันมะกอกอุ่นร้อนกับนมข้าวโอ๊ต นอกจากนี้ยังมีกาแฟโคลด์บรูว์ที่ผสมน้ำมันมะกอก "ปาร์ทันนา" เอ็กซ์ตร้าเวอร์จิน กับโฟมครีมวานิลลารสชาติหวานนุ่มละมุน
ทั้งนี้ น้ำมันมะกอกถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารในประเทศแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เช่น อิตาลี กรีซ และสเปน ประโยชน์ต่อสุขภาพส่วนหนึ่งเกิดจากกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ซึ่งมีวิตามินและแร่ธาตุ และโพลีฟีนอล ซึ่งเป็นสารอาหารรองที่ได้จากพืช
...
คำว่า "ดื่มน้ำมันมะกอก" (drink olive oil) เป็นคำได้รับความนิยมในแพลตฟอร์มแบ่งปันวิดีโอ TikTok เมื่อปีที่แล้ว โดยผู้สนับสนุนกล่าวว่ามีคุณสมบัติต้านการอักเสบ
ชาวอิตาลีส่วนหนึ่งเรียกร้องให้คว่ำบาตรสตาร์บัคส์ เมื่อบริษัทประกาศแผนการเปิดร้านสาขาแรกในประเทศในปี 2561 ในเวลานั้น นายชูลท์ซกล่าวว่า "เราไม่ได้มาเพื่อสอนชาวอิตาลีถึงวิธีการชงกาแฟ เรามาที่นี่ด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนและเคารพ เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราได้เรียนรู้อะไรมาบ้าง"
เมื่อปีที่แล้ว ผู้ใช้โซเชียลมีเดียในอิตาลีบางรายแสดงความยินดี หลังมีข่าวที่ว่าโดมิโนพิซซ่ากำลังจะถอนตัวออกจากอิตาลี โดยยักษ์ใหญ่ด้านฟาสต์ฟู้ดรายนี้ประสบปัญหาในการเอาชนะใจลูกค้าในบ้านเกิดของพิซซ่า นับตั้งแต่เปิดตัวที่นั่นในปี 2558
โดมิโนพิซซ่าต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงที่เกิดโรคระบาด เนื่องจากร้านอาหารในท้องถิ่นได้สมัครใช้แพลตฟอร์มจัดส่งอาหารอย่าง "เดลิเวอร์ยู" (Deliveryoo) และ "จัสต์ อีต" (Just Eat).