พืชประมาณ 40% ของโลกตกอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ ซึ่งพืชที่ไม่มีประโยชน์โดยตรงต่อมนุษย์จะอ่อนแอเป็นพิเศษ เหตุก็มักมาจากละเลยหรือไม่เล็งเห็นความสำคัญของพืช ส่วนงบช่วยเหลือและแก้ปัญหาสำหรับพืชก็มักได้รับน้อยกว่าสัตว์ใกล้สูญพันธุ์
มีนักวิจัยตั้งข้อสังเกตว่าสารคดีประวัติศาสตร์ธรรมชาติ เช่น “พลาเน็ต เอิร์ธ ทู” (Planet Earth II), “บลู พลาเน็ต ทู” (Blue Planet II), “เซเว่น เวิลด์” (Seven Worlds) และ “วัน พลาเน็ต” (One Planet) ทำให้ผู้ชมรู้จักสัตว์มากขึ้น แม้นักวิทยาศาสตร์จะไม่อาจเชื่อมโยงรายการสารคดีทางทีวีพวกนี้กับความพยายามในการอนุรักษ์ได้ชัดเจนนัก แต่มองว่าสารคดีธรรมชาติเป็นหนทางเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากได้โดยตรง มีบทความของนักวิจัยกลุ่มหนึ่งลงวารสาร Annals of Botany เผยว่าหาคำตอบว่าสารคดีธรรมชาติจะส่งเสริมให้คนรับรู้เกี่ยวกับพืชได้หรือไม่ จึงได้มุ่งสังเกตที่สารคดี “กรีน พลาเน็ต” (Green Planet) ของสำนักข่าวบีบีซีในปี 2565 บรรยายโดย เซอร์เดวิด แอทเทน เบอเรอห์ มีผู้ชมเกือบ 5 ล้านคนในอังกฤษ สารคดีนี้นำเสนอความหลากหลายของพันธุ์พืช เน้นพืชในป่าฝนเขตร้อน สภาพแวดล้อมทางน้ำ ผืนดินตามฤดูกาล ทะเลทราย และพื้นที่ในเมือง มีการบ่งบอกข้อกังวลด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง โดยพิจารณาถึงอันตรายของการปลูกพืชเพียงชนิดเดียว และการตัดไม้ทำลายป่า
นักวิจัยพบการชมสารคดี “กรีน พลาเน็ต” มีผลต่อการรับรู้และความสนใจพืชพรรณของผู้ชม เห็นได้ว่ามีการค้นหาเรื่องพืชที่ปรากฏในสารคดีดังกล่าวราว 28.1% ในช่วง 1 สัปดาห์หลังจากออกอากาศ นั่นแสดงให้เห็นว่าสารคดีธรรมชาติสามารถเพิ่มความสนใจด้านพืชในหมู่ผู้ชมได้.
...