(ภาพประกอบ)

แคเมอรูน พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก แล้ว 2 ราย ไม่เคยมีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เกิดการระบาดในอิเควทอเรียลกินี ขณะที่ WHO ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปช่วยอิเควทอเรียล กินีแล้ว

สื่อต่างประเทศรายงาน เจ้าหน้าที่แคเมอรูน ตรวจพบผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กแล้ว 2 ราย อาศัยอยู่ที่โอลัมเซ ชุมชนชายแดนติดกับประเทศอิเควทอเรียลกินี ซึ่งได้ออกมาประกาศยืนยันเกิดการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก (Marburg virus) เป็นครั้งแรกในอิเควทอเรียลกินี ประเทศในทวีปแอฟริกาตอนกลาง เมื่อวันจันทร์ที่ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา และทำให้ทางการแคเมอรูน ประเทศเพื่อนบ้านได้ออกมาตรการเข้มงวดในการจำกัดการเคลื่อนไหวตามแนวชายแดนเพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสติดเชื้อไวรัสมรณะ 

Robert Mathurin Bidjang เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับสูงในภูมิภาคที่พบผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก กล่าวต่อที่ประชุมในกรุงยาอุนเด เมืองหลวงแคเมอรูน ว่า พบผู้สงสัยติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก เมื่อ 13 ก.พ. ที่ผ่านมา เป็นเด็กหนุ่ม และเด็กสาวอายุ 16 ปีทั้งคู่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองคนไม่เคยมีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ที่เกิดการระบาดของเชื้อไวรัสมาร์บวร์กในอิเควทอเรียลกินีแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ ทางการแคเมอรูน จึงได้แจ้งให้ผู้สัมผัสใกล้ชิดกับเด็กทั้งสองคนจำนวน 42 คน มาแสดงตนเพื่อจะได้ติดตามอาการต่อไปว่าจะติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก หรือไม่ 

เชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ทำให้เกิดอัตราการตายสูงถึง 88% พอๆกับเชื้ออีโบลา
เชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ทำให้เกิดอัตราการตายสูงถึง 88% พอๆกับเชื้ออีโบลา

...

ด้านองค์การอนามัยโลก (WHO)รายงานว่า ได้ส่งทีมผู้เชี่ยวชาญไปยังอิเควทอเรียลกินีแล้วในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อติดตามความคืบหน้าสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กและช่วยอิเควทอเรียลกินีในการควบคุมการระบาด หลังจากองค์การอนามัยโลกได้แถลงยืนยันพบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์กเป็นครั้งแรกในประเทศอิเควทอเรียลกินี ทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 9 ศพ และผู้สงสัยอาจติดเชื้อ 16 ราย

ดร.Matshidiso Moeti ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคแอฟริกาขององค์การอนามัยโลก กล่าวว่า ไวรัสมาร์บวร์กเป็นโรคที่มีการติดเชื้อสูง ขอบคุณทางการอิเควทอเรียลกินีที่ดำเนินการอย่างรวดเร็วในการยืนยันว่าเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสมาร์บวร์กในประเทศ เพราะการรับมือแบบฉุกเฉิน ทำให้พวกเราสามารถช่วยชีวิตผู้คนและยุติการระบาดได้โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทั้งนี้ เชื้อไวรัสมาร์บวร์ก ก่อให้เกิดโรคไข้เลือดออกมาร์บวร์ก โดยจัดเป็นเชื้อไวรัสมรณะที่อยู่ใน ‘สกุล’ เดียวกันกับเชื้อไวรัสอีโบลา ที่พบอัตราตายสูงถึง 88% สามารถติดต่อผ่านทางเลือดและการสัมผัสอุจจาระที่ปนเปื้อนเชื้อ เหมือนอีโบลา

ที่มา : 9news