พูดถึงแบรนด์ญี่ปุ่นที่เป็นที่รักในระดับโลก นอกจากแบรนด์ “ยูนิโคล” แล้ว ก็มีแบรนด์ “มูจิ” ที่ใครๆต้องนึกถึง ถ้า “ยูนิโคล” เปรียบเหมือนกระต่ายผู้ว่องไวปราดเปรียวบุกขยายสาขาไปทั่วโลก “มูจิ” ก็คงไม่ต่างจากเต่าที่ค่อยๆคลานต้วมเตี้ยม ทว่าการเดินอย่างเชื่องช้าแต่สม่ำเสมอและไม่หยุดพักนี่เองกลับทำให้ “มูจิ” เข้าถึงเส้นชัยและมีแฟนๆตามคลั่งไคล้อยู่ทั่วโลก

“ลดอัตตาและกลมกลืนไปกับสิ่งแวดล้อม” คือปรัชญาการดีไซน์สำคัญของมูจิ โดย “นาโอโตะ ฟุกุซาวา” ดีไซเนอร์ ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของโลกและที่ปรึกษาด้านดีไซน์ของมูจิ อธิบายที่มาของแนวคิดดังกล่าว...“มูจิเน้นการออกแบบให้ “คน” เป็นตัวเอกในการใช้ชีวิตไม่ใช่สินค้า ผลิตภัณฑ์ของมูจิถูกดีไซน์เพื่อคอยสนับสนุนชีวิตของตัวเอก จึงเน้นความเรียบง่ายไม่โดดเด่นเกินไป แต่แฝงด้วยความใส่ใจในรายละเอียด เรียกได้ว่าจุดเริ่มต้นดีไซน์แบบมูจิไม่ได้มาจากการมองหาสินค้าที่จะออกแบบ แต่เฟ้นหาช่องโหว่ต่างๆในชีวิตประจำวันของคน และเข้าไปเติมเต็มช่องว่างนั้น แม้แต่การจัดวางสินค้าของมูจิก็จะไม่ได้ลอยเด่นออกมา แต่เน้นความกลมกลืนไปกับบรรยากาศรอบๆ”

“เข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้” เวลาจะออกแบบเก้าอี้สักตัว แทนที่จะคิดถึงเทรนด์, รูปทรงเก้าอี้, วัสดุ และสีสันที่เลือกใช้ มูจิ กลับให้ความสำคัญกับการเข้าใจพฤติกรรมของผู้ใช้เป็นอันดับแรก “นาโอโตะ” เล่าว่า ก่อนจะออกแบบเก้าอี้สักตัว เขาจะเดินสำรวจและจินตนาการว่า คนนั่งเก้าอี้จะเดินเข้ามานั่งจากฝั่งซ้ายหรือฝั่งขวา แล้ว ถ้ามีเสื้อแจ็กเกตมาด้วยจะถอดเสื้อแขวนไว้ตรงไหนของเก้าอี้ จากนั้นจึงพยายามออกแบบให้เก้าอี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับบรรยากาศมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาความเรียบง่ายกลมกลืนกับธรรมชาติในแบบเซน

...

“ใส่ใจรายละเอียดปลีกย่อยเล็กๆน้อยๆ เพื่อให้รู้สึกว่าสินค้ามูจิใช้ง่าย” สินค้าทุกอย่างของมูจิล้วนผ่านกระบวนการคิดมาอย่างละเอียดยิบในระดับไมโคร เพื่อให้ลูกค้ารู้สึกว่าใช้ง่ายไม่ขัดกับการเคลื่อนไหวของร่างกาย เช่น “หม้อหุงข้าวของมูจิ” ตั้งใจออกแบบเพื่อแก้เพนพอยต์ของหม้อหุงข้าวทั่วไปที่ไม่รู้จะวางทัพพีตักข้าวไว้ตรงไหน มูจิจึงดีไซน์หม้อหุงข้าวที่ตรงฝาด้านบนมีจะงอยยื่นมาเล็กน้อยสำหรับวางที่ตักข้าวได้สะดวก พอตักข้าวเสร็จ มือซ้ายถือชามข้าว มือขวาปิดหม้อ แล้ววางทัพพีได้เลย แบบนี้สิการเคลื่อนไหวของร่างกายคนจะลื่นไหลได้ดีที่สุด หรืออย่าง “เครื่องเขียนของมูจิ” ก็ได้รับการยอมรับว่าใครลองได้ใช้เป็นติดใจ แม้แต่ “ที่ตากผ้าขนาดพกพา” ก็มีวางขายในมูจิ เพราะมูจิใส่ใจคิดเผื่อคนไปเที่ยวที่อยากซักผ้าเล็กๆน้อยๆ เช่น ชุดออกกำลังกาย

“ขายความถ่อมตัวและความสุขแบบธรรมดาๆ” เป็นอีกหนึ่งเสน่ห์ของ “มูจิ” ที่หาได้ยากในแบรนด์อื่นๆ มูจิใช้ “ความไม่มีแบรนด์ ไม่มีโลโก้” สร้างแบรนด์ของตัวเองมาตั้งแต่ก่อตั้งในปี 1980 จนขยายสาขาไปทั่วทุกมุมโลก มี 1,111 สาขา สินค้าของมูจิจะไม่มีการเปิดเผยชื่อดีไซเนอร์ผู้ออกแบบ แม้จะเคยคอลแลบกับดีไซเนอร์ดังๆก็เก็บงำเป็นความลับ ความนิรนามเช่นนี้เองทำให้มูจิมีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัว มูจิยังไม่นิยมการโฆษณาใหญ่โต ไม่เคยมีพรีเซนเตอร์ ไม่เคยโอ้อวดตัวเองว่ามีดี แต่มูจิขายความถ่อมตัว!! มีเพียงการจัดนิทรรศการเป็นครั้งคราวเพื่อสื่อสารถึงความเป็นมูจิ

ก็เพราะแฟนๆของมูจิมักให้ความสำคัญกับการใช้สิ่งของที่ถูกใจอย่างทะนุถนอมไปนานๆ จึงเชื่อได้ว่า อนาคตที่โลกจะเปลี่ยนจาก “สังคมบริโภคนิยม” หันมาเน้นความเรียบง่ายและประโยชน์ใช้สอย คงมาถึงไม่ช้าไม่นาน และเมื่อวันนั้นมาถึงฐานแฟนคลับคนรักมูจิน่าจะขยายกว้างขึ้นอีกมาก เพราะใครๆก็อยากโอบกอดความสุขแบบธรรมดาๆ ใช้ชีวิตที่เรียบง่ายและตัดทอนสิ่งที่สูญเปล่าออกไป.

มิสแซฟไฟร์