• นิโคลา สเตอร์เจียน นายกรัฐมนตรีแห่งสกอตแลนด์ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้ว สร้างความประหลาดใจให้แก่หลายฝ่ายทั้งในสกอตแลนด์และในสหราชอาณาจักร

  • นางสเตอร์เจียนพูดถึงสภาพจิตใจของตัวเอง ว่าเป็นส่วนหนึ่งในเหตุผลที่เธอลาออก โดยระบุว่า การอยู่ในตำแหน่งสูง ทำให้เธอแทบไม่มีชีวิตส่วนตัว

  • ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของเธอ เพราะสเตอร์เจียนกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนักทั้งเรื่องการแยกเอกราช กฎหมายคนข้ามเพศ และค่าครองชีพ

นิโคลา สเตอร์เจียน หัวหอกการเคลื่อนไหวเพื่อแยกสกอตแลนด์เป็นอิสระจากสหราชอาณาจักร ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมนตรี หัวหน้ารัฐบาลสกอตแลนด์มายาวนานถึง 8 ปี ประกาศลาออกจากตำแหน่งแล้วในวันพุธที่ 15 ก.พ. 2566 ท่ามกลางความประหลาดใจของหลายฝ่าย

ในการแถลงที่ทำเนียบรัฐบาล นางสเตอร์เจียนพูดถึงสภาพจิตใจของตัวเอง ว่าเป็นส่วนหนึ่งในเหตุผลที่เธอลาออก การตัดสินใจของเธอไม่ได้เป็นผลจากแรงกดดันระยะสั้น และว่าพิธีศพของนายอัลลัน แองกัส นักเคลื่อนไหวสนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระเมื่อวันอังคาร ทำให้เธอตกลงใจได้

แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของเธอ เพราะสเตอร์เจียนกำลังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก ทั้งเรื่องแผนการลงประชามติแยกตัวที่ทำท่าจะมาถึงทางตัน กฎหมายเปลี่ยนเพศที่ถูกต่อต้านอย่างหนัก และปัญหาค่าครองชีพภายในประเทศที่ผู้นำคนถัดไปต้องมารับช่วงต่อจากเธอ

ผู้สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของสกอตแลนด์ ชุมนุมที่หน้ารัฐสภาสกอตแลนด์ เมื่อ 23 พ.ย. 2565
ผู้สนับสนุนการแยกตัวเป็นอิสระของสกอตแลนด์ ชุมนุมที่หน้ารัฐสภาสกอตแลนด์ เมื่อ 23 พ.ย. 2565

...

แผนแยกสกอตแลนด์เจอทางตัน

นางสเตอร์เจียนไม่ได้ระบุเหตุผลชัดเจนว่าทำไมเธอจึงตัดสินใจลาออก แต่เชื่อกันว่า คำตัดสินของศาลสูงสุดแห่งสหราชอาณาจักรเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีก่อน ซึ่งห้ามสกอตแลนด์จัดการลงคะแนนเสียงประชามติแยกตัวเป็นอิสระรอบ 2 โดยปราศจากความเห็นชอบจากรัฐบาลเวสต์มินสเตอร์ คือเหตุผลสำคัญ

ก่อนหน้านี้ สเตอร์เจียนถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักที่ประกาศกร้าวว่าจะใช้การเลือกตั้งใหญ่ทั่วประเทศครั้งต่อไปเป็นการลงประชามติโดยพฤตินัย จนพรรคฝ่ายสนับสนุนให้อยู่กับสหราชอาณาจักรต่อ ออกมาโจมตีว่า เธอไม่ฟังความคิดเห็นของสังคมอย่างสิ้นเชิง

ผู้นำพรรค SNP ยังทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมจำนวนมากผิดหวัง โดยแทนที่จะให้คำมั่นสัญญา พวกเขากลับตัดสินใจเสนอตัวเลือกต่างๆ ให้สมาชิกพรรคตัดสินที่การประชุมพิเศษ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 19 มี.ค. รวมถึงเรื่องที่ว่าจะใช้การเลือกตั้งทั่วไปครั้งหน้า หรือการเลือกตั้งรัฐสภาสกอตแลนด์เป็นการลงประชามติโดยพฤตินัยด้วย

แต่ความคิดนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชน ผลสำรวจความคิดเห็นเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในสกอตแลนด์กว่า 2 ใน 3 คัดค้านการใช้การเลือกตั้งทั่วเป็นการลงประชามติโดยพฤตินัย แผนการที่ไม่ชัดเจนทำให้เกิดการตั้งคำถามว่า นางสเตอร์เจียนจะใช่ผู้นำที่จะพาพรรค SNP ฟันฝ่าการต่อสู้เพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรหรือไม่

นางสเตอร์เจียนกล่าวในการแถลงลาออกจากตำแหน่งของเธอว่า เธอตระหนักว่ามุมมองของเธอในฐานะผู้นำจะมีน้ำหนักอย่างมาก หรืออาจถึงขั้นอย่างเด็ดขาด ต่อการอภิปรายเรื่องดังกล่าว เธอจึงขอหลบไปเพื่อให้พรรคสามารถเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการก้าวไปข้างหน้า โดยไม่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อความเป็นผู้นำของเธอ

ผู้ชุมนุมในสกอตแลนด์ชูป้ายต่อต้านกฎหมายปฏิรูปการยอมรับเพศ
ผู้ชุมนุมในสกอตแลนด์ชูป้ายต่อต้านกฎหมายปฏิรูปการยอมรับเพศ

กฎหมายคนข้ามเพศถูกต่อต้านหนัก

อดีตผู้นำสกอตแลนด์ยืนยันว่า กระแสต่อต้านที่เกิดขึ้นกับกฎหมายปฏิรูปการรับรองเพศ (Gender Recognition Reform) ของเธอ ไม่ใช่ฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เธอตัดสินใจลาออก แต่มันชัดเจนว่าเรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของเธอไม่มากก็น้อย

กฎหมายปฏิรูปฯ ดังกล่าวจะทำให้ชาวสกอตแลนด์สามารถเปลี่ยนเพศของตัวเองได้ง่ายยิ่งขึ้น และไม่ต้องมีการรับรองของเธอ แต่หลังจากรัฐสภาสกอตแลนด์ลงมติผ่านร่างกฎหมายเมื่อเดือนธันวาคม 2565 มันกลับตามมาด้วยการถกเถียงและการแบ่งฝักฝ่ายของผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งบางคนอยู่ในพรรค SNP ของเธอด้วยซ้ำ

ฝ่ายต่อต้านแย้งว่า การทำเช่นนี้จะขัดแย้งกับกฎหมายความเท่าเทียม (Equality Act) ซึ่งมีการบังคับใช้ทั่วสหราชอาณาจักร เช่น ทำให้การจำกัดพื้นที่สำหรับสตรีโดยเฉพาะทำได้ยากขึ้น

นอกจากนั้นยังเกิดกรณีอื้อฉาวของ อิสลา ไบรสัน หญิงข้ามเพศผู้ก่อคดีข่มขืนผู้หญิง 2 คนตอนที่ยังเป็นผู้ชายชื่อว่า อดัม แกรแฮม โดยในเบื้องต้นไบรสันถูกส่งเข้าคุกสตรีทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจไปทั่วสกอตแลนด์ จนทำให้รัฐบาลต้องกลับลำส่งคนร้ายรายนี้เข้าคุกผู้ชายในเวลาต่อมา แม้ว่าเธอจะมีเพศตามกฎหมายว่าเป็นผู้หญิงก็ตาม

รัฐบาลสหราชอาณาจักรออกคำสั่งระงับ ไม่ให้กฎหมายนี้ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระมหากษัตริย์ ซึ่งนางสเตอร์เจียนประกาศว่าจะยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อท้าทายคำสั่งของรัฐบาล UK แม้ว่าผลสำรวจความคิดเห็นจะชี้ว่า ชาวสกอตแลนด์จำนวนมากคิดว่า การขัดขวางกฎหมายฉบับนี้เป็นเรื่องถูกต้องแล้ว

...

ประท้วงค่าครองชีพ-เงินเฟ้อ

รัฐบาลของนางสเตอร์เจียนยังคงต้องรับมือกับความไม่สงบในภาคประชาชนที่ยังไม่สงบลง ตลอดช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเกิดการประท้วงใหญ่ของสหภาพแรงงานหลายกลุ่ม ตั้งแต่สหภาพครู, แพทย์, รถไฟ, ข้าราชการ หรือกระทั่งนักดับเพลิง ซึ่งต้องการเรียกร้องขอขึ้นค่าแรง ให้สอดรับกับอัตราเงินเฟ้อกับค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 ก.พ. 2566) สหภาพครูเพิ่งปฏิเสธข้อตกลงค่าแรงใหม่กับรัฐบาลสกอตแลนด์ ด้านเจ้าหน้าที่สำนักงานบริการสุขภาพแห่งชาติ (NHS) ร่วมกันหยุดงานประท้วงในขณะที่การเจรจายังดำเนินต่อไป กลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ผู้นำคนต่อไปต้องเข้ามาแก้ไข

เรื่องอื้อฉาวของสามี

ตลอดช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นางสเตอร์เจียนถูกนักข่าวถามกดดันอย่างหนัก กรณีที่นายปีเตอร์ เมอร์เรลล์ สามีของเธอและเป็นผู้บริหารใหญ่ของพรรค SNP ถูกสื่อแฉว่า บริจาคเงินมากกว่า 100,000 ปอนด์ให้กับพรรคเดือนมิถุนายน 2564 เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งก่อน

การบริจาคเงินให้พรรคการเมืองสามารถทำได้ แต่การบริจาคที่มากกว่า 7,500 ปอนด์จำเป็นต้องมีการเปิดเผยต่อสาธารณะ แต่กรณีของนายเมอร์เรลล์กลับถูกปิดเงียบนานถึง 1 ปี ขณะที่นางสเตอร์เจียนถูกถามถึงที่มาของเงินก้อนนี้ ซึ่งอดีตผู้นำสกอตแลนด์ยืนยันว่า สามีของเธอใช้เงินตัวเอง และจำไม่ได้ว่าเธอรู้เรื่องนี้ครั้งแรกตอนไหน

พรรค SNP ยังถูกตรวจสอบมานานกว่า 18 เดือน หลังมีการตั้งคำถามถึงชะตากรรมของเงินกว่า 600,000 ปอนด์ ที่พรรคระดมทุนมาจากผู้สนับสนุนในปี 2560 เพื่อใช้ในการหาเสียงประชามติในอนาคตด้วย

...

นางนิโคลา สเตอร์เจียน กับนาย ปีเตอร์ เมอร์เรลล์ สามี
นางนิโคลา สเตอร์เจียน กับนาย ปีเตอร์ เมอร์เรลล์ สามี

สูญเสียชีวิตส่วนตัว

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นางจาซินดา อาร์เดิร์น อดีตนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ประกาศลาออกอย่างกะทันหันหลังอยู่ในตำแหน่งมา 6 ปี โดยนางอาร์เดิร์นให้เหตุผลในการลงจากตำแหน่งว่า เป็นเพราะเธอหมดไฟและไม่มีพลังงานเหลือ สวนทางกับนางสเตอร์เจียนที่ยืนยันในเวลานั้นว่า เธอยังเหลือพลังงานอีกมากมาย

อย่างไรก็ตาม หลังจากดำรงตำแหน่งมุขมนตรีของสกอตแลนด์มานาน 8 ปี รองมุขมนตรีอีก 7 ปี และตลอดชีวิตในแวดวงการเมือง นางสเตอร์เจียนยอมรับในแถลงการณ์ลาออกว่า มันส่งผลกระทบต่อเธอมากมาย นายกรัฐมนตรีไม่เคยมีวันหยุด และไม่มีความเป็นส่วนตัวโดยเฉพาะในยุคนี้

เธอบอกอีกว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะได้ใช้ชีวิตส่วนตัว แม้แต่การไปพบเพื่อนเพื่อดื่มกาแฟ หรือเดินเล่น ท่ามกลางความโหดร้ายของการใช้ชีวิตในตำแหน่งระดับสูง ซึ่งเธอหวังว่า ผู้ที่มาสืบทอดตำแหน่งต่อจากเธอจะเป็นคนที่ไม่ตกเป็นเป้าจากความเห็นแบ่งฝักแบ่งฝ่ายโดยไม่สนว่ามันจะยุติธรรมหรือไม่ เหมือนกับเธอ

สเตอร์เจียนยืนยันว่า เธอไม่กลัวชีวิตหลังออกจากการเมือง เธออยากทำงานเพื่อคนหนุ่มสาว เขียนบันทึก และตั้งตารอที่จะได้ใช้เวลากับครอบครัว กับหลานๆ มากขึ้น แม้ว่าเธอจะต้องดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาสกอตแลนด์ต่อไปก่อน จนกว่าการเลือกตั้งครั้งต่อไปจะมาถึงในปี 2569





ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี

ที่มา: bbc, independent

...