เมื่อไม่นานมานี้มีผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชีวภาพและเทคโนโลยีชีวภาพจากมหาวิทยาลัยคัมปินาส (State University of Campinas-UNICAMP) ในบราซิลระบุว่า การกลั่นทางเคมีชีวภาพหรือการแปรรูปชีวมวลจากวัสดุจากธรรมชาติหรือวัสดุเหลือทิ้งจากการเกษตรด้วยการย่อยสลายแบบไร้อากาศและแบบแห้งจะผลิตไฟฟ้าและพลังงานความร้อน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งยังทำให้ของเสียมีคุณค่าขึ้นมาโดยการเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ นับเป็นวิธีที่เหมาะสมต่อการช่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมมากกว่าการกำจัดขยะเหลือทิ้งแบบฝังกลบ
เรื่องนี้ถูกพิสูจน์ด้วยผลงานของนักวิทยาศาสตร์จาก UNICAMP และมหาวิทยาลัย Federal University of the ABC (UFABC) ในบราซิลที่เผยว่า ได้ใช้วัสดุทางชีวภาพคือกากเหลือทิ้งจากการบดผลแอปเปิลเพื่อผลิตน้ำแอปเปิล และนำขยะเหลือทิ้งนั้นนำมาแปรรูปเพื่อผลิตก๊าซชีวภาพ ซึ่งแอปเปิลเป็นหนึ่งในผลไม้ที่มีการบริโภคกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก กินทั้งแบบสดและแปรรูปเป็นน้ำผลไม้ น้ำส้มสายชู และไซเดอร์ กากเนื้อแอปเปิลจึงเหมาะที่จะนำมาทำให้เกิดประโยชน์
ตามข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือเอฟเอโอระบุว่า ผลผลิตแอปเปิลทั่วโลกรวมเกือบ 86.5 เมตริกตันในปี 2563 ผู้ผลิตหลักคือจีน มีสัดส่วนอยู่ที่ 46.85% ขณะที่การผลิตในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 5.38% ตามด้วยตุรกีอยู่ที่ 4.97% โดยผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตของก๊าซมีเทน 36.61 ลิตรต่อกิโลกรัม ที่ได้จากกากเหลือทิ้งที่กำจัดออกมา อาจผลิตไฟฟ้าได้ 1.92 กิโลวัตต์ชั่วโมง และได้ความร้อน 8.63 เมกะจูลต่อกากแอปเปิลปริมาณ 1,000 กิโลกรัม พลังงานชีวภาพจ่ายไฟฟ้าได้ 19.18% และความร้อน 11.15% ทำให้ได้ข้อสรุปว่า เชื้อเพลิงชีวภาพสามารถนำไปสู่นโยบายสาธารณะในการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและลดก๊าซเรือนกระจก การปล่อยสารตกค้างจากสารอินทรีย์
...
อีกทั้งแนวคิดหลักของการพัฒนาวิธีแปรรูปของเสียในลักษณะนี้ก็สอดคล้องกับแนวคิดด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ออกแบบมาเพื่อลดต้นทุน นำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่จากของเสีย ส่งเสริมการใช้ซ้ำ และใช้พลังงานชีวภาพและวัสดุชีวภาพให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การย่อยสลายแบบไม่ใช้ออกซิเจนเป็นเทคโนโลยีที่มีความเสถียรมั่นคง สามารถนำไปใช้ในโรงงานขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจหมุนเวียนและเสนอทางเลือกที่มีมูลค่าเพิ่มในการกำจัดเศษขยะผลไม้ให้กลายเป็นของเสียที่มีประโยชน์ต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด.
ภัค เศารยะ