มหาสมุทรครอบคลุมพื้นที่มากกว่า 70% ของพื้นผิวโลก ความลึกของมหาสมุทรคือดินแดนอันใหญ่โตโอฬารซึ่งเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในโลกของสิ่งมีชีวิต และเพื่อทำความเข้าใจสภาพแวดล้อมทางทะเลขนาดมหึมา นักวิทยาศาสตร์จึงต้องการเครื่องมือวิจัยที่สามารถเดินทางได้กว้างไกล เรือวิจัยจึงเป็นยานพาหนะสำคัญสำหรับการสำรวจมหาสมุทร แต่การจะออกทะเลด้วยเรือวิจัยนั้น สถาบันวิจัยต้องลงทุนทรัพยากรมากมาย
หุ่นยนต์อัตโนมัติจึงมีความสำคัญต่ออนาคตของวิทยาศาสตร์และการสำรวจมหาสมุทร ล่าสุด วิศวกรของสถาบันวิจัยพิพิธภัณฑ์ สัตว์น้ำมอนเทอเรย์ เบย์ (MBARI) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เผย ได้พัฒนาหุ่นยนต์วิทยาศาสตร์ทางทะเลที่ทำงานโดยอัตโนมัติไม่ขึ้นอยู่กับเรือ หุ่นยนต์ออกแบบเป็นยานพาหนะไร้คนขับระยะไกล (LRAUV-long-range autono mous vehicle) มีความว่องไว เดินทางผ่านน้ำโดยปราศจากการควบคุมโดยตรงจากชายฝั่ง โดยติดตั้งไว้ที่ชายหาด ท่าเรือ และเรือขนาดเล็กได้ สามารถปฏิบัติภารกิจที่ซับซ้อนด้วยตัวมันเองเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
LRAUV มีความยาวราว 2 เมตร หนัก 110 กิโลกรัม (242.5 ปอนด์) ทำงานรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับลักษณะทางกายภาพ เคมี และชีวภาพของสิ่งแวดล้อม หุ่นยนต์ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่จึงเป็นเครื่องมือที่ปราศจากการปล่อยมลพิษ ตอนนี้สถาบัน MBARI มีฝูง LRAUV อยู่ 8 ลำ แต่ละตัวมีน้ำหนักบรรทุกที่ไม่ซ้ำกันสำหรับการสุ่มตัวอย่างนำมาวิเคราะห์จุลินทรีย์ เสียง หรือสร้างภาพ.