หนึ่งในวิธีแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและความอ้างว้างในชนบทญี่ปุ่น ก็คือการใช้หุ่นยนต์เข้ามาใช้งาน เช่น หุ่นยนต์วิ่งส่งสินค้าแก่ลูกค้า ซึ่งเดือน เม.ย.นี้กฎหมายจราจรฉบับแก้ไขจะอนุญาตให้หุ่นยนต์ส่งของที่ขับเคลื่อนตัวเองวิ่งไปตามถนนทั่วญี่ปุ่นได้ ทำให้ตอนนี้หลายผู้ประกอบการเริ่มนำหุ่นยนต์ 4 ล้อออกมาทดลอง

แต่ก็มีความท้าทายที่ต้องเอาชนะ นั่นคือข้อกังวลด้านความปลอดภัยไปจนถึงการโจรกรรม ดังนั้น หุ่นยนต์จะไม่ทำงานโดยลำพัง แต่จะมีมนุษย์เฝ้าติดตามจากระยะไกลและยื่นมือแทรกแซงได้ ยูทากะ อุจิมูระ ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมหุ่นยนต์แห่งสถาบันเทคโนโลยีชิบาอุระในญี่ปุ่น เผยว่า ข้อบังคับกำหนดความเร็วสูงสุดไว้ที่ 6 กม./ชม.หมายความว่าโอกาสที่จะได้รับบาดเจ็บรุนแรงในกรณีที่เกิดการชนกันนั้นค่อนข้างน้อย แต่ถ้าเกิดความคลาดเคลื่อนระหว่างข้อมูลตำแหน่งที่ติดตั้งไว้ล่วงหน้ากับสภาพแวดล้อมจริง ทำให้หุ่นยนต์เคลื่อนออกจากทางเท้าและชนกับรถรา ก็จะเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง

บริษัทพานาโซนิก เจ้าของหุ่นยนต์ “ฮาโกโบ” (Hakobo) เผยว่า หุ่นยนต์สามารถตัดสินใจได้โดยอัตโนมัติว่าเมื่อใดควรเลี้ยว เมื่อไหร่จะหยุด และตรวจจับสิ่งกีดขวาง เช่น การก่อสร้างหรือจักรยานที่ใกล้เข้ามา ขณะบริษัท ZMP ที่ร่วมมือกับเจแปน โพสต์ โฮลดิงส์ บริษัทขนส่งไปรษณีย์ของญี่ปุ่น ได้ทดลองให้หุ่นยนต์ “เดลิโร” (DeliRo) วิ่งส่งของในโตเกียว ผู้บริหารของ ZMP มองว่าสิ่งสำคัญคือหุ่นยนต์ต้องมีความอ่อนน้อมและน่ารักเพื่อสร้างความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้หวังผลว่าในที่สุดหุ่นยนต์จะสามารถช่วยผู้สูงอายุในชนบทห่างไกลให้เข้าถึงสินค้าได้ ในขณะเดียวกันก็แก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจัดส่งในประเทศที่กลายเป็นปัญหาเรื้อรัง.

...