มลภาวะจาก “ไมโครพลาสติก” กำลังเป็นหนึ่งในภัยคุกคามโลก เพราะอนุภาคพลาสติก ที่มีลักษณะเป็นเศษเล็กเศษน้อย เส้นผ่าศูนย์กลางเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ซึ่งเกิดการย่อยสลายหรือแตกหักของขยะพลาสติกชิ้นใหญ่ เมื่อเข้าสู่แหล่งน้ำไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ อย่างเช่นทะเลหรือ มหาสมุทรก็จะถูกกระแสน้ำพัดพาได้หลายร้อย หรือหลายพันกิโลเมตรจากจุดที่พวกมันไหลเข้ามา สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลและระบบนิเวศทางทะเล การติดตามเก็บกวาดทำความสะอาดก็ทำได้ยากมาก

จนกระทั่งในปี 2564 มีการค้นพบประโยชน์จากดาวเทียมที่ทำให้เกิดความหวังว่าดาวเทียมจะสามารถเสนอลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับเวลาจริงและแบบวันต่อวัน ว่าไมโครพลาสติกเดินทางเข้าสู่น้ำตรงที่ใด พวกมันเคลื่อนที่อย่างไร และที่ใดมีแนวโน้มที่จะสะสมตัวตรงไหน หากรู้ทันเส้นทางของไมโครพลาสติกก็จะช่วยในการหาทางรับมือ ป้องกัน รวมถึงกำจัดขยะจิ๋วที่เป็นพิษเหล่านี้

เมื่อไม่นานนี้ทีมวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์อวกาศและสภาพภูมิอากาศของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ในสหรัฐอเมริกาเผยถึงการสังเกตเห็นว่าข้อมูลที่บันทึกโดย Cyclone Global Navigation Satellite System (CYGNSS) ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายดาวเทียมนำทางที่โคจรรอบโลกและสามารถระบุตำแหน่งหรือค่าพิกัดบนพื้นผิวโลก ชี้ให้เห็นความไม่ราบเรียบของพื้นผิวมหาสมุทร ซึ่งหมายถึงพื้นที่ที่มีไมโครพลาสติกนั่นเอง โดยบริเวณนั้นจะมีคลื่นน้อยกว่าและเล็กกว่า เมื่อเทียบกับบริเวณที่สะอาดของมหาสมุทรซึ่งไร้ไมโครพลาสติก แต่ทีมก็เผยว่ายังไม่แน่ใจเกี่ยวกับธรรมชาติของความสัมพันธ์ระหว่างไมโครพลาสติก กับความขรุขระของพื้นผิวมหาสมุทร

แต่มีการศึกษาใหม่บ่งบอกว่า ความผิดปกติในกิจกรรมของคลื่นที่ไม่ได้เกิดจากตัวพลาสติกเอง แต่เกิดจาก สารลดแรงตึงผิว (surfactant) คือสารประกอบที่ลื่น เป็นฟอง หรือเป็นมัน สารเหล่านี้จะเดินทางและสะสมในลักษณะเดียวกันเมื่อพวกมันเข้าสู่แหล่งน้ำ และน้ำที่มีสารลดแรงตึงผิวจะต้องการลมมากขึ้นเพื่อสร้างคลื่นตามขนาด โดยคลื่นเหล่านั้นจะสลายตัวเร็วกว่าบริเวณที่เป็นน้ำสะอาด

...

โดยสรุปแล้วการวิจัยครั้งใหม่นี้แสดงให้เห็นศักยภาพของดาวเทียมที่สามารถระบุสารประกอบที่ลื่น เป็นฟอง หรือเป็นมันได้ดีที่สุด ที่สำคัญก็คือพวกไมโครพลาสติกก็ติดอยู่กับสารตกค้างเหล่านั้น ทีมเชื่อว่าการค้นพบนี้จะผลักดันการวิจัยเพิ่มเกี่ยวกับปฏิกิริยาของสารลดแรงตึงผิวและไมโครพลาสติกในมหาสมุทร และวางแผนใช้การสุ่มตัวอย่างน้ำ สังเกตการณ์จากดาวเทียม สร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ร่วมกันเพื่อสร้างความเข้าใจเรื่องทั้งหมด.

ภัค เศารยะ