เรื่องของ “มัมมี่อียิปต์” ยังมีอะไรที่ท้าทายในการศึกษาค้นคว้าเสมอ หนึ่งในนั้นก็คือสูตรการทำศพของคนโบราณ ที่ยิ่งวิจัยก็ยิ่งพบความซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะพัฒนาขั้นตอนรวมถึงส่วนผสมที่คนสมัยก่อนใช้ในขั้นตอนการดองศพนั้นเป็นอย่างไร ก่อนหน้านี้ มีข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการดองศพมาจาก 2 แหล่งหลักๆ ได้แก่ บันทึกประวัติศาสตร์และการวิเคราะห์ทางเคมีของตัวมัมมี่เอง แต่การเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้เป็นเรื่องยาก

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยนำโดยนักโบราณคดีและผู้เชี่ยวชาญด้านมัมมี่แห่งมหาวิทยาลัยอเมริกัน ในกรุงไคโร ของอียิปต์ ได้เปิดเผยข้อมูลที่ไม่รู้จักมาก่อนเกี่ยวกับการปฏิบัติทำมัมมี่ หลังวิเคราะห์สารเคมีตกค้างที่พบในภาชนะ 31 ใบ ที่ได้จากโรงงานทำมัมมี่ในอียิปต์ และจากห้องฝังศพคู่หนึ่งที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆกันในพื้นที่สุสานซักคารา (Saqqara) สุสานโบราณตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำไนล์ทางตอนใต้ของเมืองกีซา ทีมเผยว่า ช่างทำมัมมี่ได้พัฒนาวิธี
ผสมสารสูตรพิเศษเพื่อดองกะโหลกศีรษะ อาบน้ำศพ รักษาตับและกระเพาะอาหาร และผลิตผ้าที่ใช้ห่อหุ้มร่างกาย บนภาชนะ 5 ใบ มีอักษรเขียนว่า “antiu” ซึ่งในซักคารานั้น antiu เป็นส่วนผสมของไขมันสัตว์และน้ำมัน หรือน้ำมันดินหรือยางมะตอย จากไม้สนซีดาร์ ต้นจูนิเพอร์ หรือสนไซเปรส ตัวอักษรบนภาชนะเหล่านี้แนะนำว่าให้ใช้ antiu เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับสารประกอบที่เรียกว่า sefet เป็นน้ำมันที่ไม่มีคำอธิบาย

...

ทว่านักวิจัยได้ระบุส่วนผสมที่น่าประหลาดใจ 2 อย่าง คือยางไม้ที่เรียกว่า elemi จากต้น Canarium ที่เติบโตในป่าฝนฝั่งเอเชียและแอฟริกา ส่วนอีกชนิดคือ dammar มาจากต้น Shorea พบในป่าเขตร้อนทางตอนใต้ของอินเดีย ศรีลังกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ยางไม้ elemi และ dammar ไม่เคยเชื่อมโยงกับขั้นตอนการดองศพของชาวอียิปต์โบราณ การค้นพบนี้จึงเหนือความคาดหมายอย่างมาก.