ระหว่างปี 2476-2488 มีชาวยิวถูกปลิดชีพ “ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” จากเงื้อมมือของนาซีเยอรมนีกว่า 6 ล้านคน และอีกหลายล้านคนต้องพลัดพรากจากครอบครัวและคนรัก แม้กระทั่งชื่อยังถูกลบเลือน คงไม่มีโศกนาฏกรรมใดที่น่าสะพรึงและเลวร้ายต่อมวลมนุษยชาติมากไปกว่าการเข่นฆ่าจาก “ความเกลียดชังทางเชื้อชาติ” เช่นนี้อีกแล้ว

องค์การสหประชาชาติกำหนดให้ 27 ม.ค. ซึ่งเป็นวันที่กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตปลดปล่อยค่าย “เอาช์วิทซ์-เบียร์เคอเนา” ค่ายคุมขังและค่ายสังหารขนาดใหญ่สุดของกองทัพนาซีเยอรมนี สามารถช่วยเหยื่อได้รับอิสรภาพกลับคืนมาให้เป็น “วันรำลึกถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สากล” เพื่อรำลึกถึงและให้เกียรติแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความโหดเหี้ยมและเลือดเย็นของเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือโฮโลคอสต์

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวสากล ท่ามกลางแขกผู้รับเชิญกลุ่มเล็กๆ ระหว่างพิธีนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย จุดเทียน 6 เล่ม เพื่อระลึกถึงเหยื่อ 6 ล้านคน ยังมีการพูดคุยอย่างเป็นกันเองในหัวข้อ การต่อต้านของชาวยิวในเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว-รำลึก 80 ปี ของการต่อสู้ที่ “เก็ตโตวอร์ซอ” ซึ่งพิจารณาเลือกโดยยาด วาเชม (อนุสรณ์สถาน เพื่อการรำลึกถึงเหยื่อของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว) เพื่อระลึกถึง “วีรกรรมและความกล้าหาญของผู้คนอันพึงจดจำ” ซึ่งเป็นแง่มุมของโฮโลคอสต์ที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายกันมากนัก

เรื่องราวการลุกฮือที่ “เก็ตโตวอร์ซอ” (อาณาเขตที่มีรั้วรอบขอบชิด เพื่อแยกชาวยิวออกจากพลเมืองอื่นๆที่ไม่ใช่ยิว) ในโปแลนด์ เมื่อ 2486 เป็นวีรกรรมการก่อกบฏต่อต้านนาซีที่เกิดขึ้นในเขตเมืองของดินแดนที่ถูกนาซียึดครองเป็นครั้งแรก ยังเป็นการต่อสู้ที่ยาวนานและมีผู้เข้าร่วมต่อสู้มากที่สุดเช่นกัน กระทั่งต่อมาขบวนการต่อต้านนี้กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้คนจำนวนน้อยที่หาญกล้าลุกขึ้นต่อกรกับกลุ่มคนที่แข็งแกร่งจำนวนมากกว่า เป็นเครื่องหมายสำคัญของเสรีภาพและพลังแห่งจิตวิญญาณของมนุษย์

...

เอกอัครราชทูตออร์นายังฝากเตือนสติบรรดาคนรุ่นปัจจุบันและผู้คนรุ่นต่อๆไปให้ระลึกว่า มีแต่พวกเราเท่านั้นที่จะลุกขึ้นสู้ เพื่อป้องกันไม่ให้ความโหดร้ายเช่นนี้เกิดขึ้นอีกในอนาคต ขอให้สอนและแนะนำเยาวชนของเราจากข้อผิดพลาดในอดีต เพื่อหยุดยั้งความเกลียดชัง อคติ และแก้ไขความขัดแย้งต่างๆ.

อมรดา พงศ์อุทัย