เมื่อพูดถึงอิหร่าน หลายคนนึกถึงจักรวรรดิเปอร์เซียอันยิ่งใหญ่ มีสถานที่ท่องเที่ยวด้านวัฒนธรรมมากมาย ทั้งยังเป็นประเทศมุสลิมที่ยึดหลักศาสนาอิสลามเคร่งครัด โดยในส่วนของผู้หญิง ไม่ว่ามาจากชาติใดประเทศไหน เมื่ออยู่ในอิหร่านต้องคลุมผมด้วยผ้าฮิญาบ แต่งกายมิดชิด เพื่อเคารพกฎและธรรมเนียมปฏิบัติทางสังคม อย่างไร ก็ตามเมื่อวันที่ 20-24 ม.ค.ที่ผ่านมา มีการจัดประชุม The 1st Inter national Congress on the Women of Influence “Women, Spirituality & Justice” หรือการประชุมนานาชาติว่าด้วยสตรีผู้ทรงอิทธิพล “สตรี จิตวิญญาณ และความยุติธรรม” ที่กรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน
มีตัวแทนจากประเทศต่างๆทุกทวีปได้รับเชิญและตอบรับเข้าร่วมกว่า 90 ประเทศ อาทิ ฟิลิปปินส์ อินเดีย อิรัก อัฟกานิสถาน เดนมาร์ก ออสเตรเลีย เคนยา ไทย มาเลเซีย บรูไน คูเวต เกาหลีใต้ จีน รัสเซีย บัลแกเรีย บราซิล ฯลฯ
ตัวแทนประเทศไทยที่ได้รับเชิญเข้าร่วมครั้งนี้มี 2 คนคือ คุณพันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่ ผู้ก่อตั้งร้าน “เป็นลาว” ร้านอาหารเพื่อชุมชน และผู้ก่อตั้งโครงการ Food For Fighters “ข้าวเพื่อหมอ” ระดมทุนช่วยเหลือด้านอาหารแก่ผู้เดือดร้อนในช่วงโควิดระบาด ซึ่งได้รับการเสนอชื่อจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย ในฐานะผู้ทำงานด้านธุรกิจเพื่อสังคม และ คุณฐปนีย์ เอียดศรีไชย ผู้ประกาศข่าวภาคสนามและพิธีกรข่าวชื่อดัง ได้รับการเสนอชื่อจากศูนย์วัฒนธรรมอิหร่านประจำประเทศไทย ในฐานะสื่อมวลชนหญิงที่ขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชน
...
ก่อนไปเข้าร่วมประชุม ตัวแทนจากไทยทั้งสองคนได้เข้าพบคุณ Seyed Reza Nobakhti เอกอัครราชทูตอิหร่านประจำประเทศไทย เพื่อรับทราบสถานการณ์ปัจจุบันของอิหร่าน และพบกับคุณชาครีย์นรทิพย์ เสวิกุล ผอ.กองตะวันออกกลาง กรมเอเชียใต้ ตะวันออกกลางและแอฟริกา กระทรวงการต่างประเทศ ผู้มีบทบาทสำคัญในการนำคณะนักดนตรีไทยและนักเขียนไปร่วมจัดงานเฉลิมฉลอง 60 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อิหร่าน นอกจากนี้ยังได้เข้าพบคุณวราโรจน์ เองสมบุญ อุปทูตไทยประจำกรุงเตหะราน หารือเรื่องการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
คุณพันชนะเผยว่า การประชุมนานาชาติครั้งนี้เกิดจากการริเริ่มของคณะภริยาผู้นำประเทศ ที่ต้องการเชิญชวน ผู้นำหญิงที่มีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมในหลากหลายระดับและสาขาอาชีพ มาพบกัน เพื่อนำไปสู่ การจัดตั้งสมาคมผู้นำสตรีที่มีอิทธิพล เป็นเครือข่ายช่วยสนับสนุนหาทุนมาขับเคลื่อนโครงการหรือกิจกรรมต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา ส่งเสริมอาชีพ รักษาพยาบาล ส่งเสริมด้านโภชนาการที่ดีต่อเด็กและสตรี สิทธิมนุษยชน และการพัฒนาธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) เป็นต้น
ผลจากการพบปะพูดคุยกับผู้หญิงที่เป็นนักกิจกรรมทางสังคมจากหลายประเทศ ทุกคนต่างมีโครงการหรือกิจกรรมเพื่อสังคมที่กำลังดำเนินการอยู่ในประเทศของตนเอง และต่างก็มีเป้าหมายเดียวกันคือ อยากเห็นสังคมดีขึ้น ต้องการให้ผู้หญิงได้มีบทบาทและโอกาสในทุกด้าน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ศาสนา หรือชนชั้น
สิ่งที่ทุกคนเห็นตรงกันอีกเรื่องหนึ่งคือ การประชุมครั้งนี้ทำให้เกิดมุมมองใหม่ต่ออิหร่าน โดยเฉพาะผู้คนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ใส่ใจดูแลต้อนรับแขก ยิ่งไปกว่านั้นผู้หญิงในอิหร่านมีการศึกษาสูง ส่วนใหญ่จะเรียนต่อแพทย์ รวมถึงชอบแสดงความคิดเห็น มีน้ำใจชอบช่วยเหลือ ยึดมั่นคุณธรรม ไม่เน้นวัตถุนิยม แม้จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดทางสังคมในสายตาของคนจากภายนอกประเทศ นอกจากนี้ทุกคนมองผู้อื่นบนพื้นฐานของ “ความเป็นมนุษย์” ที่เท่าเทียม และเป็น “แม่” ผู้ให้กำเนิดที่มีความยืดหยุ่น แม้จะดูเหมือนแข็งกร้าวจากภายนอก แต่ภายในใจพร้อมเปิดรับ เรียนรู้ และแสวงหาโอกาส เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ด้อยโอกาสกว่า
คุณพันชนะกล่าวด้วยว่า เรื่องราวที่ได้ฟังจากตัวแทนนานาชาติครั้งนี้ทำให้ตระหนักได้ว่า เมื่อเราต่อสู้ในสิ่งที่เชื่อ และลงมือทำอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นเพียงเรื่องเล็กๆ แต่เมื่อทำมาเป็นเวลานานก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมได้ หรือแม้กระทั่งขยายผลในระดับโลก
ผมก็เชื่อเช่นกันว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เริ่มมาจากพลังของคนตัวเล็กครับ.
ลมกรด