- สหรัฐฯ ตัดสินใจส่งรถถังประจัญบาน เอบรามส์ ให้แก่ยูเครนเป็นครั้งแรก หลังจากปฏิเสธมาตลอด เช่นเดียวกับเยอรมนีที่ตกลงส่งรถถัง เลพเพิร์ด 2 ให้เคียฟ
- สหรัฐฯ จะส่งรถถังเอบรามส์รุ่นใหม่อย่าง M1A2 ให้ยูเครน ซึ่งเต็มไปด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ยังไม่แน่ชัดว่ายูเครนจะได้รับรถถังจริงๆ เมื่อไหร่
- สหรัฐฯ กับเยอรมนีเปลี่ยนท่าที และยอมส่งรถถังให้แก่ยูเครนหลังจากถูกกดดันอย่างหนักจากพันธมิตรยุโรปที่ต้องการให้พี่ใหญ่ทั้งสองลงมือทำมากกว่านี้ เพื่อช่วยรัฐบาลเคียฟรับมือการรุกรานจากรัสเซีย
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ปฏิเสธมาตลอดที่จะส่งรถถัง ‘เอบรามส์’ ซึ่งว่ากันว่าทันสมัยที่สุดในกองทัพของพวกเขาให้แก่ยูเครน โดยอ้างเหตุผลเรื่องความซับซ้อน และความยากในการบำรุงรักษาและซ่อมแซม
แต่ทุกอย่างกลับเปลี่ยนไปเมื่อวันพุธที่ 25 ม.ค. 2566 เสียงเรียกร้องของยูเครนที่ต้องการรถถังจากชาติพันธมิตรมาช่วยต่อกรการรุกรานของรัสเซีย ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว เมื่อสหรัฐฯ ประกาศแผนส่งรถถัง เอบรามส์ 31 คัน ให้รัฐบาลเคียฟ ขณะที่เยอรมนีจะส่งรถถัง ‘เลพเพิร์ด 2’ ให้จำนวน 14 คัน
การเปลี่ยนแปลงท่าทีของทั้งสหรัฐฯ และเยอรมนี เกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ หลังจากถูกกดดันอย่างหนักจากพันธมิตรยุโรป โดยเฉพาะโปแลนด์ ซึ่งนำไปสู่การเจรจาอย่างดุเดือดหลายครั้งของบรรดาผู้นำประเทศ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพ
...
รถถังเอบรามส์มีดีอย่างไร?
เอบรามส์เป็นรถถังหลักในกองทัพอเมริกันมาตั้งแต่ปี 2534 บรรทุกทหารได้ 4 นาย มีเกราะหนา ใช้ปืนใหญ่หลัก XM256 ขนาด 120 มม. พร้อมขีดความสามารถในการเจาะเกราะ มีปืนกล M240 ขนาด 7.62 มม. คู่ขนานกับปืนใหญ่ และติดตั้งปืนกลเล็ก M2 ขนาด .50 มม.เอาไว้ด้วย
รถถังเอบรามส์ยังมีระบบระบุเป้าหมายอันล้ำสมัย กับเครื่องยนต์เจ็ต 1,500 แรงม้า ที่ทำให้มันสามารถตะลุยไปได้เกือบทุกสภาพพื้นผิว ไม่ว่าจะหิมะตกหนัก หรือดินโคลน ด้วยความเร็วสูงสุดถึง 68 กม./ชม. ผ่านการใช้งานจริงมาแล้วในสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 2535 และ สงครามอิรักปี 2546
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยืนยันด้วยว่าพวกเขาจะส่งรถถังเอบรามส์รุ่นใหม่กว่าอย่าง M1A2 ให้แก่ยูเครน แทนที่จะเป็นรุ่น M1A1 ซึ่งกำลังจะปลดระวางภายในไม่กี่ปีข้างหน้า โดย A2 แม้ภายนอกจะดูเหมือน A1 ทุกประการ แต่เหนือกว่าทั้งด้านทัศนวิสัยและการควบคุม เนื่องจากเปลี่ยนจากระบบอนาล็อกไปใช้ระบบดิจิตอล
นอกจากนั้น A2 ยังมีการออกแบบสถานีอาวุธของผู้บัญชาการรถใหม่ เพิ่มจอภาพตรวจจับความร้อนแยกให้แก่ผู้บัญชาการรถ จากเดิมที่ให้เฉพาะพลปืนเท่านั้น ทำให้ผู้การสามารถช่วยค้นหาและระบุเป้าหมายได้ A2 ยังมีระบบส่งข้อมูลระหว่างยานพาหนะ ทำให้รถถังต่างๆ สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ตลอดเวลาและอัตโนมัติด้วย ทำให้ผู้บัญชาการสามารถระบุตำแหน่งรถถังของพวกเดียวกัน ตำแหน่งศัตรู และร้องขอให้ยิงปืนใหญ่ได้อย่างรวดเร็ว
แต่รถถัง A2 ก็มีรุ่นย่อยอีก 3 รุ่น ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าสหรัฐฯ จะส่งรุ่นใดให้ยูเครน ขณะที่มีข่าวลือด้วยว่า สหรัฐฯ จะส่งรถถังเอบรามส์ M1A2 แบบที่ไม่มีเกราะพิเศษ ซึ่งถูกจัดเป็นความลับของประเทศ และห้ามส่งออกให้แก่ยูเครนแทน เพื่อป้องกันไม่ให้สูตรการผลิตเกราะลับนี้รั่วไหล
ตอนแรกสหรัฐฯ ไม่อยากส่งให้
นายเควิน บัตเลอร์ อดีตเจ้าหน้าที่กองทัพสหรัฐฯ ผู้เคยเป็นหัวหน้ากองรถถังเอบรามส์ ระบุว่า เอบรามส์มีข้อเสียใหญ่คือ เครื่องยนต์เจ็ตของมันต้องใช้เชื้อเพลิงหลายร้อยแกลลอนในการขับเคลื่อน และเชื้อเพลิงจะถูกเผาผลาญอัตราอย่างน้อย 4.7 ลิตรต่อกิโลเมตร ไม่ว่าจะวิ่งอยู่ หรือจอดติดเครื่องอยู่เฉยๆ ส่งผลให้ต้องมีขบวนรถเชื้อเพลิงอยู่ในระยะที่เข้าถึงได้ตลอด
สหรัฐฯ กังวลว่าปัญหานี้จะกลายเป็นฝันร้ายด้านการขนส่งแก่กองทัพยูเครน เพราะถึงแม้ว่าเอบรามส์จะตะลุยไปได้แทบทุกสภาพพื้นผิว แต่รถบรรทุกเชื้อเพลิงทำไม่ได้ ยิ่งกว่านั้นเครื่องยนต์เจ็ตของเอบรามส์ก็เหมือนกับเครื่องยนต์เทอร์ไบน์อื่นๆ ที่ต้องดูดอากาศผ่านช่องลมและผ่านตัวกรอง หากตัวกรองอุดตัน ไม่ว่าจะด้วยทราย ซึ่งเคยเกิดมาแล้วในปี 2544 หรือเศษซากใดๆ จะทำให้มันใช้การไม่ได้
“รถถังเอบรามส์เป็นอุบัติที่ชิ้นส่วนซับซ้อนมาก มันราคาแพง ยากต่อการฝึกใช้งาน มันไม่ใช่ระบบที่ง่ายที่สุดในการบำรุงรักษา มันอาจจะเป็นระบบที่ใช่ หรือไม่ใช่ก็ได้” โคลิน คาห์ล รัฐมนตรีช่วยฝ่ายนโยบายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ บอกกบผู้สื่อข่าวเมื่อสัปดาห์ก่อน
อย่างที่นายคาห์ลบอก การฝึกฝนใช้รถถังเอบรามส์ต้องใช้เวลานานหลายเดือน ทหารยูเครนต้องเรียนรู้วิธีใช้ระบบบังคับรถถังที่ซับซ้อนกว่าเดิม รวมทั้งวิธีการเติมเชื้อเพลิงกับการบำรุงรักษาให้มันสามารถใช้งานต่อไปได้
...
ถูกกดดันหนักจนต้องกลับลำ
สหรัฐฯ รวมถึงชาติพันธมิตรยุโรป ส่งอาวุธหลายชนิดให้ยูเครนนับตั้งแต่สงครามเริ่มขึ้นเมื่อ 24 ก.พ. 2565 แต่ทั้งหมดล้วนเป็นอาวุธสำหรับป้องกัน พวกเขาไม่เคยส่งอาวุธสำหรับจู่โจมอย่างรถถังประจัญบานให้ยูเครนมาก่อน แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ด้วยพลังกดดันทางการเมืองและการทูต
เยอรมนีไม่เต็มใจส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ให้ยูเครน รวมทั้งไม่อนุญาตให้ชาติพันธมิตรส่งรถถังรุ่นนี้ให้ด้วย จนกว่าสหรัฐฯ จะตัดสินใจส่งเอบรามส์ให้รัฐบาลเคียฟก่อน เนื่องจากกังวลว่าการจัดหารถถังให้ยูเครนจะทำให้รัสเซียโกรธ จนส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง ขณะที่สหรัฐฯ มีท่าทีอิดออด บอกว่าเลพเพิร์ด 2 เหมาะกับทหารยูเครนมากกว่า เพราะฝึกใช้ง่าย และสามารถส่งให้ได้อย่างรวดเร็ว
การยึกยักกันไปมาของเยอรมนีกับสหรัฐฯ สร้างความรำคาญใจให้แก่ชาติพันธมิตรยุโรป โดยเฉพาะโปแลนด์ ซึ่งอยากส่งรถถังเลพเพิร์ด 2 ที่พวกเขามีอยู่ให้ยูเครน ติดตรงที่ผู้ผลิตอย่างเยอรมนีไม่อนุญาต นำไปสู่การเจรจาอย่างดุเดือดตามมาหลายครั้งของบรรดาผู้นำประเทศ และเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพ
แรงกดดันชัดเจนขึ้นในวันศุกร์ที่ 20 ม.ค. เมื่อรัฐมนตรีกลาโหมจากกว่า 50 ประเทศ พบปะกันที่ฐานทัพอากาศ รามชไตน์ ในเยอรมนี เพื่อหารือกันเรื่องความต้องการอาวุธและอุปกรณ์ของยูเครน โดยที่เรื่องรถถังเป็นประเด็นหลัก ผู้นำจากหลายประเทศเดินทางเข้าพบรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ของเยอรมนี เพื่อพูดคุยเรื่องเลพเพิร์ด 2 ด้วย จนเยอรมนีมีท่าทีอ่อนลงในที่สุด
นายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กล่าวว่า การตัดสินใจนี้เป็นผลมาจากการหารืออย่างเข้มข้นกับพันธมิตรและหุ้นส่วนนานาชาติ ขณะที่ฝ่ายสหรัฐฯ ก็บอกว่า การเจรจาดำเนินมาสักพักแล้ว แต่ “เข้มข้น” ยิ่งขึ้นในช่วงไม่กี่สัปดาห์หลัง แต่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันว่า เยอรมนีไม่ได้บีบให้พวกเขาเปลี่ยนใจแต่อย่างใด
...
นานหลายเดือนกว่าเอบรามส์จะถึงมือยูเครน
จนถึงตอนนี้ยังไม่มีใครรู้ว่ารถถังเอบรามส์จะส่งถึงมือกองทัพยูเครนเมื่อไหร่ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกเพียงว่าอาจใช้เวลานานหลายเดือน ขณะที่รถถังเลพเพิร์ด 2 จะส่งถึงเร็วกว่า โดยนายบอริส พิสโทเรียส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของเยอรมนี คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน
นายดัก บุช ผู้ช่วยเลขาธิการกองทัพสหรัฐฯ ฝ่ายจัดหายุทโธปกรณ์ ระบุว่า สหรัฐฯ ไม่ได้ซื้อรถถังเอบรามส์คันใหม่อีกต่อไปแล้ว แต่ใช้รถรุ่นเก่าเป็นฐานและตกแต่งใหม่ ซึ่งไม่ใช่กระบวนการที่รวดเร็ว หรือง่ายดาย การฝึกวิธีใช้งานสามารถเริ่มขึ้นได้เร็วกว่า และกระทรวงกลาโหมกำลังวางโครงการอยู่.
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : cna, cnn, politico
...