• ฮ่องกงเร่งหาแนวทางรับมือกับขยะปริมาณมหาศาล หลังจากที่พื้นที่ฝังกลบขยะไม่เพียงพอที่จะรองรับขยะอีกต่อไป
  • ประชาชนชาวฮ่องกงจึงถือเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการช่วยลดขยะเศษอาหาร ซึ่งคิดเป็นปริมาณมากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนขยะมูลฝอยของเทศบาลในเวลานี้

ฮ่องกงเป็นเมืองขนาดเล็กที่มีพื้นที่เพียง 1,114 ตารางกิโลเมตร หรือเล็กกว่าประเทศไทยราว 500 เท่า แต่พื้นที่ขนาดเล็กนี้มีประชากรอาศัยอยู่มากถึง 7.4 ล้านคน ทำให้ฮ่องกงจึงเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชียที่มีปริมาณขยะมากที่สุด

รัฐบาลฮ่องกงกำลังอยู่ในระหว่างการทดลองให้ประชาชนเข้าร่วมในโครงการรีไซเคิลขยะเป็นระยะเวลานาน 18 เดือน เพื่อหวังให้เกิดพฤติกรรมต่อเนื่องและทำเป็นนิสัย เพื่อช่วยกันลดปริมาณขยะในระยะยาว หลังเผชิญกับปัญหาพื้นที่ฝังกลบขยะมีไม่เพียงพอ โดยทุกๆ เย็น หลังจากมื้อค่ำ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในย่านอะเบอร์ดีน จะนำขยะเศษอาหารของพวกเขามาทิ้งในถังขยะรีไซเคิลอัจฉริยะที่ทางการจัดเตรียมไว้ให้

โดยปัจจุบันนี้พื้นที่ฝังกลบขยะของฮ่องกงกำลังลดลงเรื่อยๆ จนแทบไม่มีพื้นที่เหลือ ในขณะที่ขยะจากอาหารมีปริมาณคิดเป็น 30 เปอร์เซ็นต์ของขยะมูลฝอยทั้งหมดของทางเทศบาล ซึ่งขยะเหล่านี้แทบจะไม่สามารถนำไปกำจัดรวมกับขยะอื่นๆ ได้ เพราะการฝังกลบจะทำให้เกิดก๊าซมีเทนปริมาณมาก

หนึ่งในผู้อยู่อาศัยที่ร่วมโครงการนี้ระบุว่า มันค่อนข้างจะยุ่งยากที่จะต้องลงมาจากที่พักเพื่อทิ้งขยะรีไซเคิลทุกวัน แต่ทุกคนก็ควรร่วมมือกันเพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีต่อพลเมืองทุกคน และยังช่วยสร้างนิสัยในการแยกขยะให้เกิดขึ้นด้วย

นับตั้งแต่เริ่มโครงการนี้เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทำให้สามารถรวบรวมขยะเศษอาหารใน 5 นิคมที่พักอาศัยได้มากถึง 43 ตัน ในขณะการทดลองครั้งที่แล้วสามารถเก็บได้ราว 200 ตัน

...

การกระตุ้นให้พลเมืองรีไซเคิล

สำหรับผลประโยชน์ที่ประชาชนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับจากการนำขยะเศษอาหารไปรีไซเคิล ก็คือการได้แต้ม 50 แต้มต่อ 1 วัน ซึ่งหากสะสมแต้มได้ 150 แต้ม จะสามารถนำไปแลกกับบะหมี่สำเร็จรูปได้ 1 แพ็ก แต่หากสะสมแต้มได้ถึง 1,000 แต้ม จะสามารถนำไปแลกข้าวสารได้ 1 กิโลกรัม

นับว่าโครงการที่ริเริ่มขึ้นมานี้ได้รับความร่วมมือจากประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากประชาชนต่างเข้าใจในความเร่งด่วนของการรับมือกับขยะ

ประชาชนอีกรายที่เข้าร่วมโครงการนี้ระบุว่า เขาสามารถลดปริมาณขยะที่จะต้องไปทิ้งที่บ่อขยะลงได้ถึง 1 ใน 3 แถมขยะจากเศษอาหารยังสามารถนำไปทำประโยชน์ได้ อย่างการไปทำเป็นปุ๋ยสำหรับพืช หรือทำเป็นอาหารสัตว์ โดยไม่เสียเปล่า โดยหวังว่าการลงมือทำในวันนี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นต่อไป

ส่วนชาวบ้านอีกคนที่ชื่นชอบโครงการนี้เช่นกันระบุว่า ตราบใดที่ยังมีโครงการนี้ต่อไป เขาก็ยินดีที่จะนำเศษอาหารของเขากลับมาใช้ใหม่ เขายังได้เห็นคนที่อายุมาก พยายามที่จะเรียนรู้การใช้งานถังขยะรีไซเคิลอัจฉริยะ และเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมกับโครงการนี้เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเสียงตอบรับจากประชาชนส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางบวก แต่ตอนนี้ก็ยังเร็วเกินไปที่จะบอกได้ว่าการทดลองนี้จะทำต่อเนื่องไปในระยะยาว เนื่องจากรัฐบาลก็ต้องการประเมินผลว่าการใช้งบประมาณเพื่อโครงการนี้มีความคุ้มค่าหรือไม่

ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงสิ่งแวดล้อมฮ่องกงได้ออกพิมพ์เขียวด้านการบริหารจัดการขยะปี 2035 ซึ่งมุ่งเน้นการลดปริมาณของเสีย เพิ่มการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ และยกเลิกการกำจัดขยะแบบฝังกลบ ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาสังคม เพื่อบรรลุเป้าหมายในระยะกลาง คือ ทยอยลดปริมาณการทิ้งขยะมูลฝอยของแต่ละบุคคลลงร้อยละ 40-44 จากปริมาณขยะของเสียภายในเมือง ซึ่งสร้างขยะเศษอาหารถึงราว 3,400 ตันต่อวัน

เศษอาหารไม่สามารถย่อยสลายได้ดีด้วยวิธีฝังกลบ

ขยะเศษอาหารของเมืองมีที่มาจากหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ตลาด และแม้แต่อุตสาหกรรมผลิตอาหาร แต่ 68 เปอร์เซ็นต์ของเศษอาหารมาจากครัวเรือนเป็นหลัก โดยหลายปีที่ผ่านมา ขยะเศษอาหารเหล่านั้นก็ถูกฝังกลบสะสมขึ้นทุกทีๆ แต่ขยะเศษอาหารกลับไม่สามารถกำจัดได้ดีด้วยวิธีการฝังกลบขยะ เพราะขยะเหล่านี้จะสร้างก๊าซมีเทน หนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน

...

นับตั้งแต่ปี 2018 ฮ่องกงได้เริ่มเปลี่ยนเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ยหมักและก๊าซชีวภาพ ที่ศูนย์ฟื้นฟูทรัพยากรอินทรีย์ เฟส 1 หรือที่เรียกกันว่า O พาร์ก 1

ในปี 2021 ฮ่องกงสามารถรีไซเคิลเศษอาหารราว 66,100 ตัน ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 21 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ศูนย์รีไซเคิลขยะหรือศูนย์ฟื้นฟูทรัพยากรอินทรีย์แห่งที่ 2 จะแล้วเสร็จในปีหน้า โดยจะสามารถเปลี่ยนขยะราว 300 ตันต่อวันให้กลายเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ ซึ่งจะสามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้แก่ 5,000 ครัวเรือนได้ใช้เพียงพอนานถึง 1 ปี

เร่งสร้างสังคมสีเขียว

สังคมสีเขียว ถือเป็นหนึ่งในโครงการสนับสนุนการลดปริมาณขยะและเพิ่มอัตราการนำขยะกลับมาใช้ใหม่หรือการรีไซเคิล ภายใต้พิมพ์เขียวที่ฮ่องกงวางไว้ โดยมีการจัดตั้งสถานที่เพื่อรับขยะจากประชาชน 3 ประเภท ได้แก่ สถานีรีไซเคิล ร้านรีไซเคิล และจุดรีไซเคิลซึ่งจะตั้งอยู่ในบริเวณชุมชนในย่านต่างๆ ทั่วฮ่องกง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญและประโยชน์การรีไซเคิลขยะและสร้างพื้นที่สีเขียวในชุมชน

นอกจากนี้ยังมีองค์กรต่างๆ ที่เข้ามาช่วยในการกำจัดขยะ อย่างสมาคมส่งเสริมชุมชนเชิงนิเวศ จำกัด หนึ่งในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รับเก็บขยะเศษอาหารตามชุมชน ระบุว่าพวกเขาหวังจะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมสีเขียวให้เกิดขึ้นในฮ่องกงให้ได้ โดยนายอิวาน ไท่ ผู้ก่อตั้งสมาคมระบุว่า พวกเขาต้องการสื่อสารไปยังประชาชนว่าการสร้างขยะจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่าย ดังนั้นจึงถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคนที่จะต้องช่วยกันลดและรีไซเคิลขยะเศษอาหาร

...

ทุกวันนี้สมาคมของนายไท่ จะเก็บค่าบริการเก็บขยะเศษอาหารตามบ้านเรือนประชาชนหลังละ 14 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 500 บาทต่อเดือน โดยปัจจุบันมีบ้านสมาชิกที่ใช้บริการสมาคม 150 หลัง ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเกาะฮ่องกง และหลังจากนี้พวกเขาตั้งเป้าจะขยายการให้บริการไปที่เกาะเกาลูน และเขตดินแดนใหม่ แต่ก็คงไม่ง่าย เพราะการจะไปติดตั้งถังขยะนี้ได้ก็ต้องมีคนในหมู่บ้านอย่างน้อย 20 หลังคาเรือนที่สมัครใช้บริการ รวมทั้งยังต้องไปชี้แจงกับหน่วยงานที่ดูแลพื้นที่ถึงประโยชน์ของมันด้วย เนื่องจากคนที่ไม่ได้ใช้บริการอาจจะรู้สึกว่าถังขยะนี้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรคและอาจจะส่งกลิ่นเหม็นในชุมชน ซึ่งนายไท่ยืนยันว่า ถังขยะที่ติดตั้งนี้จะมีล็อกแน่นหนา และอยู่ห่างจากทางเข้าด้านหน้า โดยทันทีที่ถังขยะเต็ม จะมีทีมงานไปเก็บขยะ และจะเก็บขยะเป็นประจำทุกคืน

ในความเห็นของนายไท่ เขามองว่าชาวฮ่องกงยังไม่ค่อยใส่ใจกับการรีไซเคิลขยะเศษอาหารเท่าที่ควร ชาวฮ่องกงมักจะใช้ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบ และสะดวกสบาย ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่า การพยายามทำอะไรที่เพิ่มขั้นตอนเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาและความยุ่งยากสำหรับพวกเขา ดังนั้นหากภาครัฐยังไม่ให้ความสำคัญกับการให้การศึกษาเรื่องสิ่งแวดล้อม และโปรโมตโครงการรีไซเคิลขยะเศษอาหารอย่างจริงจัง สภาพแวดล้อมในฮ่องกงจะเลวร้ายกว่านี้แน่นอน

นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของการบริหารจัดการขยะที่มีแนวทางที่น่าสนใจ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณขยะที่กำลังเพิ่มมากขึ้นทุกวัน ซึ่งนอกจากจะนำกลับมาใช้ใหม่เพื่อลดปริมาณขยะแล้ว แนวทางในการนำขยะมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวอย่างการนำไปทำเป็นพลังงานไฟฟ้าก็ถือเป็นไอเดียที่น่าสนใจที่หลายประเทศควรนำไปพิจารณา. 

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

...