- จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศนิวซีแลนด์ ประกาศจะลาออกจากตำแหน่ง ภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ หลังปฏิบัติหน้าที่มานาน 5 ปี
- อาร์เดิร์น ระบุว่า เธอไม่เหลือแรงพอที่จะเป็นผู้นำประเทศออกไปอีก 4 ปี หลังจากตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เธอต้องรับมือวิกฤติระดับประเทศหลายต่อหลายอย่าง
- ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ปัญหาภายในประเทศ, คะแนนนิยมที่ตกต่ำ และราคาที่ต้องจ่ายของการเป็นผู้นำ มีผลอย่างมากต่อการตัดสินใจลาออกของอาร์เดิร์น
จาซินดา อาร์เดิร์น นายกรัฐมนตรีแห่งประเทศนิวซีแลนด์ ประกาศจะลาออกจากตำแหน่งภายในวันที่ 7 ก.พ. 2566 หลังจากปกครองประเทศมานาน 5 ปี สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา อาร์เดิร์นพิสูจน์ให้เห็นความสามารถการบริหารจัดการในภาวะวิกฤติ พาประเทศผ่านเหตุก่อการร้ายครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของแดนกีวี, เหตุภูเขาไฟระเบิดครั้งใหญ่ และได้รับการย่องอย่างอย่างมากในระดับนานาชาติ จากความสำเร็จในการรับมือการระบาดของไวรัสโควิด-19 กับการวางนโยบายต่างประเทศอย่างสมดุล
แต่ทว่าราคาของการเป็นผู้นำที่เธอต้องจ่าย รวมทั้งกระแสความนิยมที่ตกต่ำลงของพรรคของเธอ ซึ่งส่วนใหญ่มีเหตุผลจากปัญหาต่างๆ ภายในประเทศ เป็นสาเหตุทำให้เธอหมดแรงที่จะเป็นผู้นำประเทศต่อไปอีก 4 ปี และประกาศลาออกจากตำแหน่งในที่สุด
...
ความนิยมตกต่ำ
ตามการวิเคราะห์ของนาย จอฟฟรีย์ มิลเลอร์ นักวิจารณ์การเมืองและนักวิเคราะห์ภูมิรัฐสภาจากองค์กร ‘Democracy Project’ แม้ว่าการประกาศลาออกจากอาร์เดิร์นจะช็อกชาวนิวซีแลนด์ แต่ภายในประเทศมีการพูดถึงความเป็นไปได้นี้กันมาบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
“จาซินดา อาร์เดิร์น เหนื่อยล้า มันเป็น 5 ปีที่ยากลำบากมาก แต่พรรคของเธอก็ทำผลงานได้ค่อนข้างแย่ด้วยในโพลสำรวจความคิดเห็น ณ ตอนนั้น” นายมิลเลอร์กล่าว และเสริมว่า พรรคแรงงานของอาร์เดิร์นชนะเลือกตั้งปี 2563 อย่างท่วมท้น แต่ตอนนี้พวกเขามีคะแนนนิยมมากกว่า 30% นิดเดียวเท่านั้น
การชนะเลือกตั้งในปี 2563 ทำให้พรรคแรงงานสามารถตั้งรัฐบาลได้โดยไม่ต้องร่วมมือกับหินถ่วงคออย่างพรรค นิวซีแลนด์ เฟิร์ซต์ ฝ่ายประชานิยมอีกต่อไป พวกเขาเร่งผลักดันการปฏิรูปฝ่ายก้าวหน้ามากมาย ตั้งแต่ระบบประปา, สุขภาพ, การจัดการทรัพยากรและการวางแผน, การกระจายเสียงโทรศัพท์วิทยุ, การรับมือภาวะสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และสิทธิของชนพื้นเมืองเผ่าเมารี
แต่เมื่อมีการปฏิรูปก็ย่อมมีการต่อต้านเกิดขึ้น ความนิยมของพรรคแรงงานก็ค่อยๆ ตกต่ำลง เช่นเดียวกับ ตัวจาซินดา อาร์เดิร์นเองก็เริ่มไม่เป็นที่นิยมมากขึ้นเช่นกัน
ด้านศาสตราจารย์ ริชาร์ด ชอว์ จากมหาวิทยาลัย แมสซีย์ ในนิวซีแลนด์ กล่าวว่าความนิยมที่ตกต่ำมากจากแรงต้านทางเศรษฐกิจและสังคม ผลการเลือกตั้งในปี 2563 แสดงให้เห็นการสนับสนุนนางอาร์เดิร์นอย่างล้นหลามหลังเหตุสังหารหมู่ที่ไคสต์เชิร์ช และผลงานของเธอในปีแรกของการรับมือโควิด แต่รอยร้าวก็เริ่มขึ้นจากตรงนั้น
ในช่วงต้นปี 2565 กลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีนออกมาปักหลักชุมนุมหน้ารัฐสภาซึ่งบานปลายกลายเป็นความรุนแรง ขณะที่บนโลกออนไลน์ การแสดงความเห็นเชิงอนุรักษ์นิยม, ต่อต้านการฉีดวัคซีน และแสดงความเกลียดชังสตรีในนิวซีแลนด์ เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว “เรายังมีแรงต้านทางเศรษฐกิจอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ, ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน และความสัมพันธ์กับจีน ซึ่งเป็นตลอดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของเรา” ศ.ชอว์กล่าว
ราคาที่ต้องจ่ายของการเป็นผู้นำ
นักวิเคราะห์ยอมรับด้วยว่า ภาระของการเป็นผู้นำที่อาร์เดิร์นต้องจ่าย เป็นเหตุผลใหญ่ที่ทำให้เธอตัดสินใจลงจากตำแหน่ง เธอกล่าวในแถลงการณ์ลาออกของเธอเมื่อวันพฤหัสบดีว่า แรงกดดันมีผลกระทบและทำให้เธอสงสัยว่าตัวเองจะสามารถเป็นผู้นำพรรคเข้าสู่การเลือกตั้งในเดือนตุลาคมนี้ได้หรือไม่ และเธอพบว่าเธอไม่เหลือพลังพอที่จะเป็นผู้นำประเทศต่อไปอีก 4 ปี
“เธอเหนื่อย เธอหมดไฟ และเธอกลับจากวันหยุดฤดูร้อนที่นี่ในนิวซีแลนด์ และตัดสินใจว่า เธอไม่อยากเดินต่อ” นายมิลเลอร์กล่าว
ขณะที่นาง เจน แพตเตอร์สัน บรรณาธิการข่าวการเมืองของสถานีวิทยุ Radio New Zealand ระบุว่า อาร์เดิร์นตัดสินใจก้าวออกมาจากการเมืองเพื่อเหตุผลส่วนตัวหลายๆ อย่าง รวมถึงการที่เธอมาถึงจุดสำคัญของชีวิต เธอมีลูกสาววัย 5 ขวบที่กำลังเริ่มเข้าโรงเรียน ซึ่งนั่นเป็นจุดสำคัญในฐานะพ่อแม่ ไม่ใช่แค่นักการเมือง
สภาพแวดล้อมทางการเมืองในปัจจุบันสั่งต่ออาร์เดินอย่างมาก ข้อมูลที่มีการเปิดเผยออกมาในเดือนมิถุนายน 2565 ชี้ว่า ตำรวจพบการข่มขู่อาร์เดิร์นเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าตลอด 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนั่นทำให้งานเลี้ยงบาร์บีคิว เนื่องในวันลงนามสนธิสัญญาไวตังกี (Waitangi Treaty) ที่นายกรัฐมนตรีจะเป็นเจ้าภาพทุกปี ต้องถูกยกเลิกเพื่อความปลอดภัย
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา อาร์เดิร์นยังเคยถูกคนที่เธอไม่รู้จักลุกขึ้นมาด่าและคุกคามกลางที่สาธารณะ ขณะกำลังทานอาหารกลางวันด้วย
...
เมื่อจุดแข็งกลายเป็นจุดอ่อน
อาร์เดิร์นได้รับการยกย่องอย่างมากจากต่างประเทศในเรื่องการจัดการวิกฤติของชาติ ทั้งการรับมือเหตุสังหารหมู่ และเหตุภูเขาไฟระเบิดรุนแรงในปีต่อมา เธอยังนำพาประเทศฝ่าฟันการระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ใช้นโยบายควบคุมพรมแดนอย่างเข้มงวด และใช้ตัวเองเป็นตัวอย่างด้วยการไม่เดินทาง
แต่ถึงแม้ว่านโยบายโควิดของเธอจะสร้างชื่อเสียงของเธอในระดับนานาชาติ เธอกลับเผชิญแรงต่อต้านภายในนิวซีแลนด์เสียเอง เธอเผชิญการแบ่งฝักฝ่ายในปัญหาภายในหลายอย่าง รวมถึง กลุ่มต่อต้านการฉีดวัคซีน, ปัญหาค่าครองชีพและราคาบ้านพุ่งสูง และปัญหาเกี่ยวกับชนพื้นเมืองชาวเมารี
“เธอเป็นบุคคลที่สะดุดตามากในรัฐบาลของเธอ มากกว่ารัฐมนตรีคนใด และนั่นคือสิ่งที่ทำให้ผมคิดว่า เป็นจุดแข็งของเธอซึ่งกลายมาเป็นจุดอ่อนของเธอในท้ายที่สุด” นายมิลเลอร์กล่าว
ขณะที่สำหรับ ศ.ชอว์ นั้น จาซินดา อาร์เดิร์น แสดงบทบาทการเป็นผู้นำประเทศด้วยภาพลักษณ์ที่สงบ, เห็นอกเห็นใจ, ครอบคลุม และมั่นคงในสถานการณ์ไม่เคยพบมาก่อน, โกลาหล และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิธีการของเธอยังทำให้เธอต่างจากนักประชานิยมหลายคน ที่มักใช้ถ้อยคำรุนแรง, สร้างความแตกแยก และวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบ
“จาซินดา อาร์เดิร์น ไม่เคยพูดถึงใครในฐานะศัตรูเลย เธอทำตัวและใช้ชีวิตการเมืองในสไตล์ที่ดูเป็นผู้ใหญ่และปรองดองกว่านักการเมืองที่เราเห็นในต่างประเทศ” ดร.ชอว์กล่าว
แต่สำหรับชาวนิวซีแลนด์แล้ว พวกเขากำลังไม่พอใจในปัญหาค่าครองชีพ, การขึ้นอัตราดอกเบี้ย, ปัญหาอาชญากรรม และอื่นๆ อีกมากมาย พวกเขาต้องการผู้นำที่มีแนวคิดแตกต่างไปจากที่ใช้ในการรับมือวิกฤติอย่างโควิด-19 เข้ามาแก้ปัญหาของพวกเขา
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา : cna , bbc
...