ศาลฟิลิปปินส์กล่าววันนี้ว่า มาเรีย เรสซา นักข่าว นักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนชาวฟิลิปปินส์ ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของสำนักข่าวแรปเปลอร์ พ้นผิดในข้อกล่าวหาทั้งหมด 4 ข้อ ที่เกี่ยวกับคดีหลบเลี่ยงภาษี

กระทรวงยุติธรรมของฟิลิปปินส์กล่าวว่า การออกตราสารทางการเงินของแรปเปลอร์ หรือที่เรียกว่า การขายตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depositary Receipt) ให้แก่นักลงทุนต่างชาติ "โอมิดยาร์ เน็ตเวิร์ก" และ "นอร์ท เบส มีเดีย" ก่อให้เกิดรายได้ที่ต้องเสียภาษีเป็นมูลค่า 141.86 ล้านเปโซ หรือราว 86.5 ล้านบาท ซึ่งไม่ได้มีการแสดงรายละเอียดไว้ในปี 2558

หลังจากที่ศาลพิพากษาว่าเธอพ้นผิดในคดีดังกล่าว เรสซากล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ด้านนอกของห้องพิจารณาคดีที่ศาลในกรุงมะนิลาว่า ความจริงเป็นฝ่ายชนะในวันนี้ "การยกฟ้องนี้ไม่ใช่เพียงสำหรับแรปเปลอร์เท่านั้น แต่ยังสำหรับชาวฟิลิปปินส์ทุกคนที่เคยถูกกล่าวหาอย่างไม่ยุติธรรม" โดยระบุว่า นี่คือชัยชนะของความยุติธรรมและความจริง และกล่าวด้วยว่า ข้อกล่าวหาเหล่านี้มีเหตุจูงใจทางการเมืองและสามารถพิสูจน์ได้ว่า แรปเปลอร์ ไม่ได้หลบเลี่ยงภาษีแต่อย่างใด

เรสซา ผู้ก่อตั้งสำนักข่าวแรปเปลอร์ ตกเป็นเป้าหมายของคดีความที่รัฐบาลฟิลิปปินส์ยื่นฟ้อง ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดี โรดริโก ดูเตอร์เต ที่กล่าวหาเรสซา และแรปเปลอร์ ว่าหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี หลังการระดมทุนผ่านความร่วมมือกับนักลงทุนต่างชาติ เรสซากล่าวว่า มีสาเหตุมาจากการที่เธอเป็นกระบอกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตำหนิอดีตประธานาธิบดีดูเตอร์เต และนโยบายการทำสงครามกับยาเสพติดของเขา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายพันคน

เรสซา วัย 59 ปี ยังคงถูกดำเนินคดีอาญาอีก 3 คดี ซึ่งรวมถึงข้อหาหมิ่นประมาททางไซเบอร์ ที่ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ ซึ่งหากศาลตัดสินว่าเธอมีความผิด ก็จะทำให้เธอต้องถูกจำคุก 6 ปี

...

เจ้าของรางวัลโนเบลสัญชาติฟิลิปปินส์รายนี้ต้องต่อสู้กับคดีมากมายที่รัฐบาลดำเนินการต่อเธอ อันนำมาซึ่งความกังวลใจจากหลายฝ่ายทั่วโลกเกี่ยวกับสถานการณ์การข่มขู่สื่อในประเทศนี้ ซึ่งถูกจัดให้เป็นที่ที่ อันตรายที่สุดประเทศหนึ่งในเอเชียสำหรับสื่อมวลชน

ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 147 จาก 180 ประเทศในดัชนีเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปี 2565 ขณะที่คณะกรรมาธิการปกป้องสื่อมวลชนจัดให้ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 7 ของโลกในรายงานดัชนีว่าด้วยกรณีผู้ทำผิดโดยไม่ได้รับโทษ ปี 2564 ซึ่งติดตามรวบรวมข้อมูลการเสียชีวิตของสื่อมวลชนที่ผู้กระทำผิดไม่ได้ถูกนำตัวมารับโทษ.