หากไม่ปรับตัวก็จะเป็นปัญหาใหญ่ ค.ศ.2023 ประเทศผู้ผลิตทั้งหลายจะโดนมาตรการกีดกันจากหลายประเทศ ผมหมายถึงผลิตแล้วก็ไม่สามารถส่งออกไปขายในบางประเทศได้ เดือนธันวาคม 2022 สหภาพยุโรปหรืออียูออกกฎหมาย Deforestation-free products หรือกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งจะมีผลตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2023 ประเทศที่จะโดนผลกระทบมากที่สุดจากกฎหมายฉบับนี้ก็คืออินโดนีเซีย

อินโดนีเซียมีพื้นที่กว้างใหญ่โตถึง 1.9 ล้านตารางกิโลเมตร มีเกาะมากที่สุดในโลก มากกว่า 1.7 หมื่นเกาะ ห้วงหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการตัดไม้ทำลายป่าให้กลายเป็นพื้นที่ผืนใหญ่เพื่อใช้ปลูกปาล์ม กฎหมายใหม่ของอียูคือห้ามจำหน่ายน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์โภคภัณฑ์อื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวดองหนองยุ่งกับการตัดไม้ทำลายป่า สินค้าที่จะนำเข้าไปจำหน่ายในสหภาพยุโรป ผู้นำเข้าต้องแสดงหลักฐานว่ากระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ไม่มีส่วนร่วมในการตัดไม้ทำลายป่า

ด้วยเทคโนโลยีดาวเทียมที่มีมากมายหลายดวงทั่วโลก เก็บภาพทุกตรอกซอกมุมของโลกไว้ หากมีการนำภาพจากดาวเทียมมาตรวจดูย้อนหลังว่ามีการตัดไม้ทำลายป่าอย่างมโหฬารเพื่อเปลี่ยนมาเป็นสวนปาล์ม ปาล์มจากสวนนั้นก็ไม่สามารถเข้าไปขายในยุโรปได้ ไม่ใช่เฉพาะอินโดนีเซียเท่านั้นนะครับ ปาล์มจากมาเลเซียก็เหมือนกัน ตอนนี้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมของมาเลเซียก็ออกมากระดิกพลิกตัวว่าจะโต้ตอบกฎหมายใหม่ของอียู และไม่ได้โต้ตอบเพียงประเทศเดียว แต่จะชวนสมาชิกของ Council of Palm Oil Producing Countries หรือสมาชิกสภาประเทศผู้ผลิตน้ำมันปาล์ม (CPOPC) มาร่วมประท้วง

อินโดนีเซียและมาเลเซียยื่นฟ้ององค์การการค้าโลกเรื่องมาตรฐานเกี่ยวกับเชื้อเพลิงน้ำมันปาล์มของสหภาพยุโรปว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า อินโดนีเซียและมาเลเซียผลิตน้ำมันปาล์มได้ถึงร้อยละ 85 ของผลผลิตน้ำมันปาล์มโลก ผู้บริโภคน้ำมันปาล์มที่นำน้ำมันปาล์มจากอินโดนีเซียและมาเลเซียเข้าไปมากถึงปีละเกิน 1 ล้านตันก็คือสหภาพยุโรป หากส่งน้ำมันปาล์มเข้าอียูไม่ได้ เกษตรกรของอินโดนีเซียและมาเลเซียกระทบแน่นอน

...

ไม่ใช่เฉพาะน้ำมันปาล์มอย่างเดียวนะครับ EU Deforestation Regulation (EUDR) หรือกฎระเบียบการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรปยังกระทบมาเรื่องพื้นที่ปลูกยางพารา กาแฟ ถั่วเหลือง ฯลฯ เรื่องนี้ลามมาถึงไทยซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตสินค้าเกษตร เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีเรื่องของ Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) หรือมาตรการปรับคาร์บอนข้ามพรมแดน ซึ่งบังคับใช้ในปีนี้ และจะขยายกลุ่มสินค้าเพิ่มขึ้นในทุกอุตสาหกรรม ทุกผลิตภัณฑ์ต้องแสดงการปล่อยก๊าซคาร์บอน

หลายท่านอาจจะเถียงว่า ย้อนหลังกลับไปในอดีตร้อยปีพันปีพื้นที่เหล่านี้ก็เป็นพื้นที่ป่าทั้งนั้นละครับ ขอเรียนว่ากฎหมายใหม่ของสหภาพยุโรปที่ให้ระบุนั้น ต้องระบุว่าสินค้าผลิตขึ้นเมื่อใด ที่ไหน ต้องแสดงข้อมูลที่ตรวจสอบได้ว่าสินค้าไม่ได้มาจากพืชที่ปลูกบนพื้นที่ที่มีการตัดไม้ทำลายป่าหลัง ค.ศ.2020

ประเทศที่กระทบกับกฎหมายใหม่ของอียูมากที่สุดก็คือบราซิล บราซิลมีพื้นที่มากถึง 8.5 ล้านตารางกิโลเมตร เป็นประเทศที่มีการตัดไม้ทำลายป่ามากที่สุดในโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตัดไม้ในป่าแอมะซอน สินค้าที่กระทบมากอีกอย่างคือกาแฟ บราซิลเป็นผู้ผลิตและส่งออกกาแฟอันดับ 1 ของโลก และคนทั้งโลกก็กินกาแฟ กฎหมายในลักษณะนี้ตอนนี้ไม่ได้มีเฉพาะในยุโรปเท่านั้น สหรัฐฯก็เริ่มแล้ว แล้วก็กำลังลามเข้าไปในหลายประเทศ

การทำเกษตรสมัยนี้ไม่ง่ายเหมือนแต่ก่อนครับ ยังจะมีเรื่องความปลอดภัยของอาหารเข้ามาเกี่ยวข้อง บางประเทศถึงขนาดมาตั้งสำนักงานตรวจความปลอดภัยของสินค้าอาหารที่จะส่งเข้าไปในประเทศตัวเอง ส่งคณะไปตรวจแม้แต่การปนเปื้อนของดินว่ามีสารพิษหรือมีเชื้อโรคตกค้างหรือไม่ สมัยก่อน การตรวจสุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหารที่นำเข้าเป็นเรื่องยาก ต้องนำไปเข้าห้องแล็บ แต่สมัยนี้ง่ายแล้ว ตรวจที่สนามบินหรือท่าเรือได้เลย เจอปุ๊บก็ห้ามเข้า สินค้าเกษตรจึงกองพะเนินเทินทึกตามด่านต่างๆ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com