เพื่อสร้างคนให้มีความรู้ทางโลกคู่ความรู้ทางธรรม “มูลนิธินักศึกษาสถาบันพระปกเกล้าเพื่อสังคม” ภายใต้การนำของ “ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” เป็นโต้โผใหญ่จัด โครงการอุปสมบทพระภิกษุและชีพรหมโพธิ ณ ดินแดนพุทธภูมิ สาธารณรัฐอินเดีย ต่อเนื่องเป็นรุ่นที่สี่ ระหว่างวันที่ 10–20 มกราคม 2566 เพื่อน้อมเกล้าฯถวายพระราชกุศลแด่ “พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว” และถวายพระกุศล “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก” โดยปีนี้มีผู้บรรพชาเป็นพระภิกษุมากถึง 75 คน และบวชชีพรหมโพธิ จำนวน 76 คน
“เชื่อผมอย่าไปฝึกสมาธิตอนมีทุกข์ มันจะได้สมาธิช้ามาก ให้ใช้ชีวิตธรรมดา และฝึกสมาธิไปเรื่อยๆ สะสมบุญไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลามีทุกข์ ความทุกข์จะน้อยลงไม่ท่วมท้น สำหรับผมการสร้างคนให้มีความรู้ทางโลกคู่ความรู้ทางธรรมสำคัญกว่าการสร้างวัด โครงการอุปสมบทพระภิกษุและชีพรหมโพธิ ณ ดินแดนพุทธภูมิ ถือเป็นการส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนได้ตามรอยพระยุคลบาทพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสืบอายุพระพุทธศาสนา น้อมนำพระธรรมคำสอนมาปฏิบัติในการดำเนินชีวิต”
...
ทั้งนี้ “การบรรพชาอุปสมบท” มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เริ่มจากการมุ่งสละเรือนออกครองเพศเป็นสมณะ เพื่อหลีกเลี่ยงความวุ่นวายทางโลกอันเป็นกามสุขัล ลิกานุโยค เพื่อแสวงหาพระนิพพานอันเป็นทางหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง ต่อมาในประเทศไทยถือการบวชเพื่อเรียน จึงเรียกว่า “บวชเรียน” เพื่อการศึกษาชีวิตของผู้บวช ผ่านธรรมะของพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า และปฏิบัติตนให้ถึงพร้อมซึ่งไตรสิกขา คือ ศีลสิกขา, สมาธิสิกขา และปัญญาสิกขา การบรรพชาอุปสมบทเพื่อศึกษาและปฏิบัติตามไตรสิกขาที่พระบรมศาสดาวางไว้ จึงจัดเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ หรือเป็นบุญอันประเสริฐ เพราะทำให้เป็นมนุษย์ที่ประเสริฐ เป็นประโยชน์ตน ประโยชน์ท่าน คือได้ประโยชน์ทั้งกับตัวผู้บวช ซึ่งขัดเกลากิเลสให้ลดลง เป็นประโยชน์ต่อผู้ใกล้ชิด คือบิดามารดา และครูอาจารย์ ผู้ได้เห็นคนที่ตนรักทำความดี อีกทั้งยังเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาว ด้วยเหตุนี้ ตั้งแต่ครั้งโบราณกาลจึงเกิดประเพณีการบวชอุทิศบุญที่เกิดจากการนี้ให้ผู้มีพระคุณที่ตนรัก
...
...
การเดินทางไปบวช ไปปฏิบัติธรรม หรือแสวงบุญในดินแดนพุทธภูมินั้น ถือเป็นบ่อเกิดแห่งบุญบารมีที่แท้จริง โดยการเดินทางไปเยือนสังเวชนียสถานทั้ง 4 ตำบล คือ “ลุมพินีวัน” สถานที่ประสูติ, “พุทธคยา” สถานที่ตรัสรู้, “สารนาถ” สถานที่แสดงปฐมเทศนา และ “กุสินารา” สถานที่ปรินิพพาน เปรียบเสมือนได้ตามรอยบาทพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อให้เกิดความยินดีว่าพระพุทธเจ้ามีอยู่จริง และหลังจากกลับมาจะรู้สึกได้ว่าพุทธศาสนามีความสำคัญต่อชีวิตเราจริงๆ รู้สึกว่าโชคดีที่มีโอกาสได้สัมผัสกับหลักคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้สัมผัสความหมายแท้จริงของพระพุทธศาสนา สิ่งเหล่านี้จะเป็นภาพติดตาตรึงใจอยู่ตลอด แม้กลับเมืองไทยก็ยังระลึกนึกถึงตลอด นึกถึงเหตุการณ์ที่ได้มีโอกาสไปบวชไปกราบไหว้พระพุทธองค์ถึงที่ประทับ และไปบำเพ็ญบุญบารมีตามสถานที่สำคัญต่างๆ ยิ่งทำให้เกิดความภูมิใจ แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ แต่ขอให้รักษาศีลให้ดี, ทำจิตใจให้ผ่องใส, ทำสิ่งที่เป็นความดี, เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น และเป็นประโยชน์แก่ตนเอง ก็ถือเป็นการสร้างบุญบารมียิ่งใหญ่แล้ว
...
การบวชในประเทศไทยเป็นเรื่องดี แต่อาจทำให้ตัดขาดทางโลกได้ยาก ตรงข้ามกับการไปบวชที่ 4 สังเวชนียสถาน ในดินแดนพุทธภูมิ จะไม่มีคนตามมาฉลองศรัทธา เวลาส่วนใหญ่มุ่งอยู่ในการแสวงบุญ ไม่มีภาระทางบ้าน จึงเป็นเหมือนอินเทนซีฟคอร์ส แม้จะเป็นการบวชเพียงสั้นๆ แต่เชื่อมั่นว่าน่าจะได้อะไรเท่ากับการบวชทั้งพรรษาในประเทศไทย เพราะสามารถใช้เวลาเต็มที่ในการศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า และได้ใช้เวลาส่วนใหญ่ในการฟังธรรมปฏิบัติธรรม ท่ามกลางบรรยากาศการอุปสมบทเต็มรูปแบบ ที่มีทั้งความเคร่งครัด ประณีตงดงาม และศักดิ์สิทธิ์
เกิดเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งที ครั้งหนึ่งในชีวิตควรได้ไปเยือน 4 สังเวชนียสถานด้วยจิตศรัทธา ไปทำพุทธานุสติว่า นี่คือสถานที่ประสูติ, สถานที่ตรัสรู้, สถานที่แสดงปฐมเทศนา และสถานที่ปรินิพพานของพระบรม ศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า.
ทีมข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ