• นับเป็นความหวังใหม่ของผู้ป่วยโรคมะเร็ง เมื่อสหราชอาณาจักรได้ลงนามร่วมกับบริษัทยาไบโอเอ็นเทคสัญชาติเยอรมนี พัฒนาวัคซีน mRNA เพื่อป้องกันและรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
  • การรักษามะเร็งด้วยวัคซีน mRNA นี้จะเป็นการออกแบบการรักษาเฉพาะบุคคล ซึ่งคาดว่าจะสามารถรักษาผู้ป่วยมะเร็งได้มากถึง 10,000 คนภายในสิ้นปี 2030
  • นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า วัคซีน mRNA นี้จะกลายเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการเอาชนะโรคร้ายต่างๆ ได้อีกมากมายในอนาคต

รัฐบาลสหราชอาณาจักรประกาศแผนที่จะร่วมวิจัย วัคซีนรักษาโรคมะเร็ง mRNA ร่วมกับบริษัทเวชภัณฑ์ ไบโอเอ็นเทคสัญชาติเยอรมนี โดยมีการลงนามในข้อตกลงเรียบร้อย

แม้ว่าเทคโนโลยี mRNA หรือ เมสเซนเจอร์ ไรโบนิวคลีอิก แอซิด จะเป็นเรื่องใหม่ แต่หลังจากประสบความสำเร็จในการใช้เทคโนโลยีนี้ในการผลิตวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ร่วมกับไฟเซอร์ นักวิทยาศาสตร์จึงได้เดินหน้าใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ในการทดลองวัคซีนเพื่อจะใช้กับคนไข้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง

คาดว่าภายในสิ้นปี 2030 จะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งจากการรักษาจริง และในขั้นตอนการทดลองที่จะได้รับวัคซีนป้องกันมะเร็งที่ได้รับการปรับเฉพาะบุคคลนี้มากถึง 10,000 คน แต่เนื่องจากมะเร็งเป็นโรคที่ซับซ้อน คนไข้อาจจะต้องได้รับวัคซีนหลายโดสเพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันคอยเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา

...

อูกูร์ ซาฮิน ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารของ บริษัทไบโอเอ็นเทค ผู้ผลิตเวชภัณฑ์ของเยอรมนีระบุว่าโครงการนี้จะมุ่งเป้าไปที่การสร้างภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง วัคซีนโรคติดเชื้อต่างๆ โดยหวังจะปักหมุดหมายของไบโอเอ็นเทคเข้ามาในสหราชอาณาจักร เพื่อพัฒนาวัคซีนโดยใช้เทคโนโลยีที่ทางบริษัทได้วิจัยและพัฒนามากว่า 20 ปี

โดยขั้นตอนหลังจากนี้ คือการคัดเลือกผู้เข้าร่วมการทดลอง และสถานที่ที่จะใช้ทดลอง เพื่อจะให้วัคซีนทันออกมาใช้งานภายในครึ่งหลังของปี 2023 โดยคนไข้บางส่วนที่เข้าร่วมการทดลองจะเป็นคนไข้ที่เคยเป็นมะเร็งมาก่อนและได้รับการรักษาหายแล้ว และหวังว่าวัคซีนจะช่วยป้องกันไม่ให้พวกเขากลับมาเป็นมะเร็งซ้ำอีก

นอกจากนี้ทางบริษัทไบโอเอ็นเทคจะมีการเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนา ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ราว 70 คน ในเมืองเคมบริดจ์ รวมทั้งจะตั้งสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคในกรุงลอนดอนด้วย

เทคโนโลยี mRNA ตัวเลือกในการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับโรคมะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า วัคซีน mRNA อาจจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในการต่อสู้กับโรคต่างๆ อีกมากมาย เนื่องจากมันสามารถกระตุ้นการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน ด้วยการส่งโมเลกุลพันธุกรรมที่มีรหัสสำหรับส่วนสำคัญของเชื้อโรคเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ แถมวัคซีนชนิดนี่ยังใช้เวลาในการพัฒนาน้อยกว่าวัคซีนแบบดั้งเดิมอีกด้วย

ดร.เอียน ฟอล์กส์ กรรมการบริหารขององค์กรวิจัยมะเร็งและนวัตกรรมของสหราชอาณาจักร ระบุว่าวัคซีน mRNA เป็นหนึ่งในการพัฒนางานวิจัยที่และพัฒนาน่าตื่นเต้นที่สุด ที่ออกมาในช่วงการระบาดใหญ่ของโรคโควิด และมีแนวโน้มอย่างมากว่า วัคซีนนี้อาจจะกลายเป็นทางเลือกที่ดีในการรักษาโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตาม การทำความฝันนี้ให้เป็นจริง จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความร่วมมือ และสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการวิจัยและพัฒนาที่มีประสิทธิภาพของสหราชอาณาจักร ซึ่งสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรที่จะต้องใส่ใจกับประเด็นปัญหาที่อาจจะเป็นอุปสรรคต่อการทดลองต่างๆ อย่างปัญหาการขาดแคลนเจ้าหน้าที่ และผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นผลพวงมาจากโรคระบาด ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องทำงานเพิ่มขึ้น และอาจจะไม่มีเวลาพอที่จะสนับสนุนการทดลองทางการแพทย์ได้ ส่งผลให้กระบวนการหาวิธีการรักษาใหม่ล่าช้าลงไปอีก นอกจากนี้ยังมีการแสดงความกังวลของบรรดานักเคลื่อนไหวที่ต่างออกมาเรียกร้องไปยังรัฐบาลอังกฤษตั้งแต่เนิ่นๆ เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันมะเร็งที่จะผลิตออกมาใช้ในอนาคตหากการทดลองสำเร็จ เพื่อให้มั่นใจว่าราคาของวัคซีนที่จะออกมาจะไม่มีราคาแพงจนเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าถึงได้ เพราะต่อให้ยาจะมีประสิทธิภาพเพียงใด หากผู้ป่วยที่ต้องการการรักษาอย่างแท้จริง ไม่สามารถซื้อหามาใช้ได้ ก็คงไม่เกิดประโยชน์แต่อย่างใด.

...

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล

ที่มา : ABC , BBC