ปัญหาขยะพลาสติกล้นโลกเป็นประเด็นหนักอกที่ทั่วโลกต้องร่วมมือร่วมใจแก้ไขและหาแนวทางจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อช่วยลดมลพิษที่กระทบต่อทุกสิ่งมีชีวิต ขณะที่รัฐบาลอังกฤษพยายามควบคุมปัญหาขยะครั้งล่าสุดด้วยการประกาศแผนเตรียม “แบน” การใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งรวมถึงจานชามช้อนส้อม และแทนที่ด้วยทางเลือกอื่นที่ย่อยสลายได้ในธรรมชาติด้วยเวลาไม่นาน หลังจากออกกฎหมายคุมเข้มห้ามจำหน่ายจ่ายแจกหลอดพลาสติก ที่คนกาแฟ/เครื่องดื่ม และสำลีก้านที่ทำจากพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวไปเมื่อเดือน ต.ค.2563

ก่อนหน้านี้งานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชี้ให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่เกี่ยวข้องกับอาหารและเครื่องดื่มแบบซื้อกลับบ้านก่อให้เกิดขยะปริมาณมากที่สุดในมหาสมุทรต่างๆทั่วโลก ขณะที่รัฐบาลอังกฤษยังเผยข้อมูลน่าตกตะลึงที่ระบุว่า ในแต่ละปีชาวอังกฤษก่อขยะพลาสติกด้วยการใช้ช้อนส้อมพลาสติก มากกว่า 4,250 ล้านชิ้น และใช้จานพลาสติกมากกว่า 1,100 ล้านใบ โดยเฉลี่ยชาวอังกฤษใช้จานพลาสติกคนละ 18 ใบ และช้อนส้อมพลาสติก 37 ชิ้นต่อปี แม้ว่าจะสามารถนำของใช้เหล่านี้มารีไซเคิลได้ แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น
กลับถูกนำไปรีไซเคิลในระบบอย่างถูกต้องเพียง 10% เท่านั้น และส่วนใหญ่จบลงด้วยการถูกนำไปฝังกลบหรือเป็นขยะตามที่ต่างๆ ใช้เวลาย่อยสลายถึง 200 ปี สร้างมลพิษต่อดินและแหล่งน้ำกระทบทุกสิ่งมีชีวิตบนโลก

รัฐบาลอังกฤษยังมั่นใจว่ามาตรการครั้งนี้จะส่งผลดีโดยรวม ช่วยปกป้องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนสำหรับคนรุ่นต่อไป ขณะที่กลุ่มสิ่งแวดล้อมแสดงความยินดีกับความเคลื่อนไหวดังกล่าว หลังจากที่ผ่านมาได้วิพากษ์ วิจารณ์รัฐบาลว่ามีความก้าวหน้าในประเด็นสิ่งแวดล้อมเชื่องช้าเหลือเกิน ขณะเดียวกันยัง ให้ข้อแสนอแนะว่าจำเป็นต้องมีการดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเข้มงวดและเป็นระบบในการลดพลาสติกในวงกว้าง ขณะที่มีคำสั่งห้ามสินค้าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในสกอตแลนด์ มาตั้งแต่เดือน มิ.ย.ปีที่แล้ว ส่วนที่เวลส์ มีการอนุมัติเมื่อเดือน ธ.ค.ปีที่แล้ว และจะมีผลบังคับใช้ในปี 2566

...

อย่างไรก็ตามสื่อบางสำนักตั้งข้อสังเกตว่านโยบายครั้งนี้ใช้กับจาน ชาม และถาดพลาสติกที่ใช้สำหรับใส่อาหารและเครื่องดื่ม
ที่รับประทานในร้านอาหาร ร้านกาแฟ หรือสั่งกลับบ้านเท่านั้น แต่ยัง “ไม่รวม” การใช้สิ่งเหล่านี้ในซุปเปอร์มาร์เกตและร้านค้าต่างๆ ขณะที่รัฐบาลยืนยันว่าใช้แนวทางอื่นแทน ยังไม่ชัดเจนว่าการแบนจะมีผลบังคับเมื่อใด แต่นับเป็นความพยามยามอย่างแข็งขันที่ต้อง
ลงมือตั้งแต่วันนี้ ก่อนที่จะไม่มีโลกที่สะอาดปลอดมลพิษให้อยู่อาศัย.

อมรดา พงศ์อุทัย