ปัจจุบันกระแสรักษ์โลก ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น แม้อาจไม่หวือหวา แต่ก็เรียกได้ว่ามีความก้าวหน้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป

จากวิกฤติมลพิษทางอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในหลายพื้นที่ทั่วโลก โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ไปจนถึงปัญหาไฟป่า คลื่นความร้อน น้ำท่วม และภัยธรรมชาติอื่นๆที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและทวีความรุนแรงอย่างน่าสะพรึง ปรากฏให้เห็นตามสื่อต่างๆนับครั้งไม่ถ้วน เป็นตัวกระตุ้นให้ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสนใจถึงต้นตอของปัญหาจนนำมาสู่ความเปลี่ยนแปลง เริ่มใส่ใจสิ่งแวดล้อม มีสินค้าและนวัตกรรมรองรับวิถีการดำเนินชีวิตไปจนถึงเมื่อยามสิ้นลมหายใจ

ที่ผ่านมาแนวความคิดเรื่อง การนำร่างผู้วายชนม์มาผ่านกระบวนการให้กลายเป็นปุ๋ย ถูกยอมรับว่าเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่า การเผาและการฝัง เนื่องจากช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนได ออกไซด์ ตัวการสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่สิ้นเปลือง อย่างเช่นไม้ทำโลงศพ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆและที่ดินฝังศพที่นับวันยิ่งลดน้อยลงเรื่อยๆ

เมื่อไม่กี่วันก่อนรัฐนิวยอร์กเป็นรัฐที่ 6 ในสหรัฐฯ ที่ไฟเขียวให้ประชาชนจัดการร่างของผู้เสียชีวิตด้วยการย่อยสลายให้กลายเป็นปุ๋ย ตามหลังรัฐวอชิงตันที่นำร่องมาก่อนตั้งแต่ปี 2562 ตามมาด้วยรัฐโคโลราโด รัฐโอเรกอน รัฐเวอร์มอนต์ และรัฐแคลิฟอร์เนีย ที่อนุมัติกฎหมายดังกล่าวมาก่อนแล้ว

ร่างของผู้เสียชีวิตจะถูกนำไปใส่ในภาชนะหรือโลงที่ใช้ซ้ำได้ พร้อมกับวัสดุตามธรรมชาติจากพืชต่างๆ เช่น เศษไม้ หญ้า และฟาง พร้อมระบบควบคุมความชื้นและปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ให้สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่สุดกับการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติให้ย่อยสลายร่างกลายเป็นปุ๋ยได้ในเวลาประมาณ 30 วัน หลังจากนั้น ปุ๋ยที่ได้จะเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อนและส่งคืนแก่ครอบครัวต่อไป ซึ่งสามารถเลือกได้ว่าจะเก็บไว้หรือนำไปใช้เป็นปุ๋ยปลูกดอกไม้ ไม้ประดับ หรือต้นไม้ต่อไปได้ตามประสงค์

...

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้คนจะสามารถโยนร่างบุคคลที่รักลงหลุมในสวนหลังบ้าน พร้อมเศษอาหารในครัวและเศษหญ้าด้วยตัวเองได้ ยังต้องอาศัยบริษัทผู้เชี่ยวชาญที่รับบริการดังกล่าวที่ยังอาจมีไม่แพร่หลายและต้องการมาตรการกำกับดูแล ขณะเดียวกันยังมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายและการต่อต้านจากผู้นำศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกที่มองว่าไม่ควรนำร่างมนุษย์มาปฏิบัติเยี่ยงขยะในครัว...มาถึงวันนี้คงต้องเลือกระหว่างรักษ์โลกหรือรักษาความเชื่อ.

อมรดา พงศ์อุทัย