2565 ถือเป็นปีที่มีเหตุการณ์สำคัญด้านสำรวจอวกาศ เด่นๆก็คือภารกิจ อาร์ทิมิส วัน (Artemis 1) ขององค์การนาซา สหรัฐอเมริกา ที่ปล่อยจรวดไปทดสอบการโคจรรอบดวงจันทร์ ตามด้วย สถานีอวกาศเทียนกง ของจีนประกอบร่างเสร็จสิ้น ความสำเร็จเหล่านี้ทำให้ตื่นเต้นว่าอะไรจะเกิดขึ้นในปี 2566
แวดวงสื่อวิทยาศาสตร์ได้รวบรวมภารกิจที่เชื่อว่าจะทำให้ปีกระต่ายน่าตื่นเต้น เริ่มที่เดือน เม.ย.องค์การอวกาศยุโรปกำหนดปล่อยยานอวกาศ “จูซ” (Juice) หรือ Jupiter Icy Moons Explorer ไป สำรวจดาวพฤหัสบดีและ 3 ดวงจันทร์บริวารคือ ยูโรปา แกนีมีด คัลลิสโต การเดินทางครั้งนี้ยาวนานถึง 8 ปี ยานจูซจะถึงดาวพฤหัสบดีในเดือน ก.ค.2574 ส่วนที่ว่าทำไมดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีถึงน่าสนใจ นั่นก็เพราะเชื่อว่ามีมหาสมุทรที่เป็นน้ำอยู่ใต้พื้นผิวน้ำแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยูโรปา มีความเป็นไปได้มากที่สุดในระบบสุริยะที่จะพบสิ่งมีชีวิตนอกโลก
ตามด้วยภารกิจของบริษัทสเปซเอ็กซ์ แม้จะยังไม่มีการประกาศวันที่แน่นอน แต่คาดว่าจะมีการปล่อย ยานอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ซึ่งจะบรรทุกลูกเรือและสินค้าขึ้นสู่ระดับความสูง 65 กม. ขณะที่ยังมีโครงการ “เดียร์มูน” (Dearmoon) ที่มหาเศรษฐีชาวญี่ปุ่นนามยูซากุ มาเอซาวะ ทุ่มทุนสนับสนุนและรอคอยมายาวนานที่จะพาคนทั่วไปเดินทางรอบดวงจันทร์แบบไป-กลับใช้เวลา 6 วัน ด้วยยานสตาร์ชิป ซึ่งความสำเร็จหรือล้มเหลวของ “เดียร์มูน” อาจเป็นตัวชี้วัดว่าการท่องเที่ยวอวกาศจะถูกสานต่อไปได้ หรือถูกผลักไสให้กลับไปเป็นแค่ความฝัน
ปีนี้โลกจะต้อนรับการกลับบ้านของนักสำรวจดาวเคราะห์น้อย ยานหุ่นยนต์โอไซริส-เร็กซ์ (OSIRIS-REx) หรือ The Origins Spectral Interpretation Resource Iden tification Security-Regolith Explorer ที่องค์การนาซาส่งไปสำรวจและเก็บตัวอย่างของ ดาวเคราะห์น้อยเบนนู (Bennu) ที่อยู่ใกล้โลกกลับมาวิเคราะห์ ยานจะถึงโลกในวันที่ 24 ก.ย.ลงจอดในทะเลทรายรัฐยูทาห์ สหรัฐฯ เบนนูถูกระบุว่ามีโลหะมีค่ามากมายทั้งทองคำ ทองคำขาว รวมทั้งมีความเป็นไปได้เพียงเล็กน้อยมากที่จะพุ่งชนโลกในอีกร้อยปีข้างหน้า
...
ปิดท้ายด้วยวงการอวกาศอินเดีย ซึ่งบริษัทเอกชนสกายรูท แอโรสเปซ หลังประสบความสำเร็จปล่อยจรวด Vikram-S เมื่อปลายปีก่อน ตอนนี้กำลังจะเป็นบริษัทเอกชนรายแรกของอินเดียที่จะปล่อยดาวเทียมในอีกไม่ช้านาน.
ภัค เศารยะ