การเคลื่อนไหวของสัตว์ เช่น การเดิน การว่ายน้ำ มักเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไหวคล้ายกับสัตว์เหล่านั้น แต่มีสัตว์ชนิดหนึ่งที่นักวิทยาศาสตร์สนใจและมองหาวิธีออกแบบหุ่นยนต์ให้เลียนแบบการเคลื่อนไหวของมัน นั่นก็คือ การบินร่อนของ “งูบิน” (flying snake)
เมื่อเร็วๆนี้ นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียและเวอร์จิเนียเทค เผยการสำรวจกลไกการสร้างวิธีลอยตัวของงูบิน ที่เคลื่อนไหวคล้ายลูกคลื่นจากด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่ง ขณะที่มันลอยตัวจากยอดไม้ลงสู่พื้นเพื่อหลบหนีนักล่า โดยเคลื่อนที่ไปมาอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การกระเพื่อมตัวแบบลูกคลื่นช่วยให้งูสามารถเลื้อยไปได้ไกลถึง 25 เมตรจากยอดไม้สูง 15 เมตร และเพื่อทำความเข้าใจว่าลูกคลื่นช่วยยกตัวงูได้อย่างไร นักวิจัยได้พัฒนาแบบจำลองการคำนวณที่ได้มาจากข้อมูลวิดีโอบันทึกภาพการเคลื่อนตัวด้วยความเร็วสูงของงูบิน พร้อมพิจารณาคุณสมบัติหลายประการ เช่น มุมการปะทะกับกระแสลมที่พัดมา และความถี่ของการเคลื่อนเป็นลูกคลื่นของงู เพื่อดูว่าสิ่งใดมีส่วนสำคัญในการร่อนตัวในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ
ทีมพบว่างูบินมักจะกระเพื่อมตัวด้วยความถี่ระหว่าง 1-2 ครั้งต่อวินาที ซึ่งคาดหวังว่าการค้นพบนี้จะนำไปสู่ความเข้าใจที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับการเคลื่อนที่แบบร่อน และนำไปสู่การออกแบบที่เหมาะสมยิ่งขึ้นสำหรับหุ่นยนต์งูที่บินร่อนได้เหมือนงูบินจริงๆ.
Credit : Jack Socha (1) and Yuchen Gong (2-5)