สัตว์บางชนิดไม่เพียงแต่เป็นอาหารของสัตว์ด้วยกันหรือเป็นอาหารของมนุษย์ แต่หนังของพวกมันยังจำเป็นต่อการอยู่รอดในความหนาวเย็น เช่น การใช้หนังหมีเป็นเครื่องห่มคลุม มีนักวิจัยเชื่อว่าหนังหมีอาจเป็นเครื่องห่มคลุมหลักๆที่ทำให้มนุษย์ยุคแรกปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศในทางตอนเหนืออันเหน็บหนาว
ล่าสุด ทีมนักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยทือบิงเงิน และศูนย์ศึกษาวิวัฒนาการมนุษย์และสภาพแวดล้อมบรรพกาลเซงเคนแบร์ก ในเยอรมนี และมหาวิทยาลัยไลเดิน ในเนเธอร์แลนด์ เผยการวิจัยรอยตัดบนกระดูกฝ่าเท้าหมีและกลุ่มหมีถ้ำที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดียุคหินตอนต้นที่เมืองเชินนิงเงิน ในรัฐโลเวอร์ แซกโซนี ของเยอรมนี หลักฐานนี้นักวิจัยระบุได้ว่า รอยตัดที่ละเอียดและแม่นยำ เกิดจากการถลกหนังอย่างระมัดระวัง เชื่อว่าเป็นฝีมือของมนุษย์ โดยรอยตัดที่ค้นพบใหม่นี้บ่งชี้ว่าเมื่อช่วง 300,000 ปีก่อน ผู้คนในยุโรปเหนืออดทนอยู่รอดในฤดูหนาวได้ โดยส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะหนังหมีที่ให้ความอบอุ่นนั่นเอง
ส่วนที่ว่าทำไมต้องเป็นหนังหมี นักวิจัยเฉลยว่า เมืองเชินนิงเงินในอดีต มีหลักฐานแสดงต้นกำเนิดการล่าสัตว์ เพราะหอกเก่าแก่ที่สุดในโลกถูกค้นพบที่นี่ แถมมีข้อบ่งชี้บางประการเผยว่า คนยุคนั้นล่าหมี โดยกระดูกและฟันหมีทั้งหมดที่พบเป็นของหมีโตเต็มวัย หนังหมีต้องถูกถลกหลังจากตายไปไม่นาน ไม่เช่นนั้นขนจะร่วง ผิวหนังจะใช้ไม่ได้.
Credit : University of Tübingen