องค์การอนามัยโลก หวั่นสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในจีน ชี้ผู้ป่วยหนักเต็มไอซียู ของโรงพยาบาล วอนรัฐบาลสี จิ้นผิง รายงานสถานการณ์จริง ขณะที่เยอรมนีเป็นชาติแรก ประกาศส่งวัคซีน mRNA มาช่วยจีน
เมื่อ 22 ธ.ค. 2565 สำนักข่าวต่างประเทศรายงาน องค์การอนามัยโลก (WHO) กำลังหวั่นวิตกสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาดหนักในจีน เนื่องจากขณะนี้แผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) ตามโรงพยาบาลต่างๆ ในจีนกำลังเต็มไปด้วยผู้ป่วยอาการหนักที่คาดว่าติดเชื้อโควิด-19
ดร.ไมเคิล ไรอัน หัวหน้าฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์กรอนามัยโลก (WHO) กล่าวว่า ขณะนี้แผนกผู้ป่วยหนัก (ICU) ตามโรงพยาบาลต่างๆ ในจีนกำลังยุ่ง เพราะมีผู้ป่วยอาการหนักจำนวนมาก แต่ทางการจีนกำลังพูดว่าจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ค่อนข้างต่ำ
‘ในจีน ซึ่งมีรายงานว่าจำนวนผู้ป่วยอาการหนักค่อนข้างต่ำ แต่ขณะนี้ไอซียูกำลังเต็ม’ ดร.ไรอัน กล่าวด้วยความวิตก พร้อมกับเรียกร้องให้จีนรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดระลอกล่าสุดในจีนให้มากขึ้น
...
ขณะที่นายเทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก กล่าวระหว่างแถลงข่าวประจำสัปดาห์ที่สำนักงานใหญ่องค์การอนามัยโลกที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ว่า เขารู้สึกกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในจีน พร้อมกับร้องขอข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับความรุนแรงของโรคโควิด-19 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และความต้องการเข้ารับการรักษาในห้องไอซียูในจีน
นอกจากนั้น ดร.ไรอัน หัวหน้าฝ่ายสถานการณ์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลกยังกล่าวเสริมว่า ‘วัคซีนต้านโควิด-19 คือยุทธศาสตร์สำหรับทางออกจากโควิด-19’
ความเห็นดังกล่าวของดร.ไรอัน มีขึ้น ขณะที่รัฐบาลเยอรมนีประกาศเมื่อวันพุธที่ 21 ธ.ค. 2565 ตามเวลาท้องถิ่น ว่ารัฐบาลเยอรมนีจะส่งวัคซีนโควิด-19 ลอตแรก ของบริษัทไบโอเอ็นเทคมาให้แก่จีน ซึ่งคาดว่าเป็นจำนวนประมาณ 20,000 โดส โดยนับเป็นวัคซีนโควิด-19 จากต่างประเทศลอตแรกที่ถูกส่งมาช่วยจีน แต่ไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาหรือจำนวนวัคซีนที่จะส่งมาช่วยจีนแต่อย่างใด ในขณะที่ความช่วยเหลือจากรัฐบาลเยอรมนีในครั้งนี้ มีขึ้นหลังจาก นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ แห่งเยอรมนีได้เดินทางมาเยือนกรุงปักกิ่ง พบหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ จีนได้มีการพัฒนาและผลิตวัคซีนโควิด-19 ขึ้นเอง แต่ได้แสดงให้เห็นแล้วว่ามีประสิทธิภาพน้อยกว่าในการป้องกันผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อเทียบกับวัคซีนชนิด mRNA ที่ถูกใช้ในประเทศอื่นๆ ที่เหลือบนโลก.
ที่มา : BBC