แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเห็นเค้าลางความล้มเหลว แต่ใน การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ สมัยที่ 15 หรือ COP15 ณ เมืองมอนทรีออล แคนาดา ที่เสร็จสิ้นเมื่อ 19 ธ.ค. หลังผู้แทนจากกว่า 190 ประเทศเจรจาเกือบ 2 สัปดาห์ จนได้ข้อสรุปนำมาสู่การลงนามรับรองกรอบการปฏิบัติงานด้านความหลากหลายทางชีวภาพ คุนหมิง-มอนทรีออล ข้อตกลงประวัติศาสตร์เพื่อพลิกฟื้นธรรมชาติอย่างยั่งยืน

ข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายหลักให้ประเทศต่างๆ ลงมือวางแผนงานในการ อนุรักษ์ การคุ้มครอง และการฟื้นฟู พื้นที่ 30% ของผืนดิน พื้นที่ชายฝั่งและทะเลทั่วโลก ภายในปี 2573 (ค.ศ.2030) หรือที่เรียกกันในชื่อโครงการ 30×30 ขณะเดียวกันยัง เคารพสิทธิของชนพื้นเมือง ตั้งแต่บราซิลไปจนถึงฟิลิปปินส์ ในการเป็นผู้พิทักษ์พึ่งพาและดูแลผืนดินสำคัญแหล่งอุดมความหลากหลายทางชีวภาพที่เหลืออยู่ของโลก และรับประกันว่าจะไม่ถูกขับไล่ออกจากพื้นที่โดยอ้างการอนุรักษ์ ยังตั้งเป้า ฟื้นฟูผืนดินและแหล่งน้ำเสื่อมโทรมให้ได้ 30% ตลอดทศวรรษ เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิม 20% รวมทั้ง ลดอัตราการสูญพันธุ์ของสัตว์ทุกชนิดลง 10 เท่าภายในปี 2593 ด้วย

ที่ประชุมยังกำหนดให้จัดสรรงบ 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี หรือราว 7 ล้านล้านบาท ในโครงการริเริ่มด้านการอนุรักษ์ต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชน ประเทศที่ร่ำรวยกว่าให้คำมั่นจะสนับสนุนเงินอย่างน้อย 20,000 ล้านดอลลาร์ หรือราวเกือบ 700,000 ล้านบาท ทุกปีภายในปี 2568 และอย่างน้อย 30,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาทต่อปี ภายในปี 2573 ทำให้คองโกคัดค้านในเบื้องต้น นอกจากนี้ยังมุ่งที่การลดความเสี่ยงโดยรวมจากยาฆ่าแมลงและสารเคมีของมลพิษให้อยู่ในระดับที่ไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อธรรมชาติ โดยไม่ระบุเป้าหมายเชิงปริมาณ

...

นักวิทยาศาสตร์และกลุ่มอนุรักษ์ต่างแสดงความยินดีกับก้าวสำคัญของนานาชาติในการปกป้องธรรมชาติในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน กระนั้นหลายฝ่ายยังแสดงความกังวลเนื่องจากยังจัดการกับต้นตอที่ทำลายธรรมชาติได้ไม่มากพอ เพราะขาดการสนับสนุนจากอุตสาหกรรมที่สร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศสูงสุด อย่างการประมงเชิงพาณิชย์และการเกษตร ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางรายยังให้ทัศนะว่าเป้าหมาย 30% นั้นต่ำเกินไป ยืนยันว่า 50% น่าจะเหมาะสม อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญที่มองโลกในแง่ดียังมองว่าเริ่มทำตามข้อตกลงตั้งแต่วันนี้ ยังดีกว่าไม่ลงมือเลย.

อมรดา พงศ์อุทัย