ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นอกเหนือจากภารกิจขององค์การอวกาศแต่ละชาติแล้ว การเดินทางในอวกาศของบริษัทเอกชนที่เปิดเที่ยวบินส่วนตัวนำ คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักบินอวกาศหรือนักวิทยาศาสตร์ขึ้นไปเปิดประสบการณ์เหนือโลกบ้าง ก็ได้กลายเป็นเรื่องธรรมดามากขึ้น นอกจากนี้ โครงการเกตเวย์ร่วมระหว่างญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป เพื่อสร้างสถานีอวกาศในวงโคจรดวงจันทร์ก็ได้เริ่มขึ้นแล้วเช่นกัน
ปฏิบัติการและภารกิจต่างๆเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ถึงข้อมูลสภาพอากาศในอวกาศแบบเรียลไทม์หรือตามเวลาจริงมากขึ้น เพราะการได้รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในอวกาศก็เพื่อความปลอดภัย รวมถึงหาทางบำรุงรักษาเครื่องไม้เครื่องมือและยานอวกาศ เนื่องจากอวกาศเต็มไปด้วยพลาสม่า ที่ประกอบด้วยอนุภาคมีประจุบรรจุอยู่ในก๊าซร้อน เมื่ออนุภาคเหล่านี้ทำปฏิกิริยากับสนามแม่เหล็กโลกก็จะทำให้เกิดผลกระทบที่เรียกว่า “สภาพอากาศในอวกาศ” (Space Weather) เช่น พายุแม่เหล็กโลก แสงออโรราในอวกาศ โดยผลกระทบเหล่านี้อาจส่งผลต่อดาวเทียม สถานีอวกาศ และนักบินอวกาศ
แม้การตรวจสอบสภาพอากาศในอวกาศจะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็ไม่ง่ายเลยที่อุปกรณ์จะขึ้นไปอยู่ในอวกาศและตรวจสอบสภาพแวดล้อมในอวกาศอย่างต่อเนื่อง แต่นักวิจัยพยายามค้นหาหนทางข้ามผ่านอุปสรรคเหล่านี้ให้ได้ จนเมื่อเร็วๆนี้ ทีมวิจัยจากสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมโลกและอวกาศแห่งมหาวิทยาลัยนาโกยา ในญี่ปุ่น รายงานว่าได้ใช้เซ็นเซอร์ที่ผลิตโดยไอจิ สตีล คอร์ปอเรชัน สร้างอุปกรณ์ที่เรียกว่า Magneto-impedance Sensor Magnetometer (MIM) สำหรับวัดความแปรผันของสนามแม่เหล็กโลก โดย MIM จะระบุสถานะของสภาพอากาศในอวกาศจากภาคพื้นดินโดยไม่ต้องใช้ดาวเทียมนั่นเอง
...
นักวิจัยระบุว่า MIM ที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้เหมาะสำหรับการสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น พายุที่เกิดจากการเพิ่มแรงดันไดนามิกของลมสุริยะ การสั่นไหวของคลื่นแม่เหล็กโลกเป็นระยะเวลานาน อุปกรณ์นี้มีน้ำหนักเบา ประหยัดพลังงาน และราคาไม่แพง ซึ่งทำให้ง่ายต่อการสร้างเครือข่ายการสังเกตการณ์แบบหลายจุด สามารถเพิ่มความเร็วในการตรวจสอบสภาพแวดล้อมในอวกาศและการวิจัยสภาพอากาศในอวกาศนั่นเอง
ส่วน MIM จะติดตั้งที่ไหน ก็คงต้องเป็นหอดูดาวมิเนยามะ เพื่อทำการทดลองภาคสนามสังเกตการณ์ใกล้กับนครเกียวโต ในญี่ปุ่นโดยได้ใช้เวลา 1 เดือนสังเกตการณ์อย่างต่อเนื่อง.
ภัค เศารยะ