แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ FTX บริษัทแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีชื่อดัง ปฏิเสธว่าไม่เคยคิดฉ้อโกง และอ้างว่าปัญหาของ FTX เกิดจากข้อผิดพลาดทางบัญชี
แซม แบงก์แมน-ฟรายด์ ผู้ก่อตั้งและอดีตซีอีโอ บริษัทแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีชื่อดัง "เอฟทีเอ็กซ์" (FTX) กล่าวปฏิเสธเรื่องพยายามฉ้อโกงเงินลูกค้า ในการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การล่มสลายของบริษัทของเขา ซึ่งสร้างความตกตะลึงให้แก่บรรดานักลงทุน และทำให้เจ้าหนี้ต้องเผชิญกับความสูญเสียรวมหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แบงก์แมน-ฟรายด์ กล่าวให้สัมภาษณ์จากหมู่เกาะบาฮามาส ผ่านวิดีโอลิงก์ที่งานดีลบุ๊ก ซัมมิต ของหนังสือพิมพ์นิวยอร์ก ไทมส์ ซึ่งมีแอนดรูว์ รอสส์ ซอร์กิน เป็นผู้ดำเนินรายการ เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าเขาไม่ได้นำเงินของลูกค้าในเอฟทีเอ็กซ์ไปใช้ในอะลาเมดา รีเสิร์ช บริษัทเทรดดิ้งของเขา
ผู้สัมภาษณ์เริ่มต้นด้วยการถามอดีตซีอีโอรายนี้ว่า เอฟทีเอ็กซ์ล้มเหลวจากความผิดพลาดทางบัญชีจริงหรือไม่ หรือว่าเขาได้ทำการฉ้อโกงครั้งใหญ่
เขากล่าวว่า "ผมทำเรื่องผิดพลาดเอาไว้มากมาย มีหลายเรื่องที่ผมยอมแลกได้ทุกอย่างเพื่อย้อนกลับไปแก้ไข แต่ผมไม่เคยที่จะคิดฉ้อโกงใคร"
ทั้งนี้ การให้สัมภาษณ์ของนายแบงก์แมน-ฟรีดในคราวนี้ได้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากการล่มสลายของเอฟทีเอ็กซ์ ซึ่งเป็นบริษัทซื้อขายคริปโตฯ และอะลาเมดา รีเสิร์ช ซึ่งเป็นบริษัทเทรดดิ้งในเครือ
เอฟทีเอ็กซ์ยื่นฟ้องล้มละลาย และ แบงก์แมน-ฟรายด์ก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หรือ ซีอีโอ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน หลังจากที่นักลงทุนแห่ถอนเงิน 6 พันล้านดอลลาร์จากแพลตฟอร์มภายใน 3 วัน และไบแนนซ์ ซึ่งเป็นบริษัทแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซีคู่แข่ง ยกเลิกข้อตกลงช่วยเหลือ
...
เอฟทีเอ็กซ์เผชิญกับการสืบสวนที่วุ่นวาย โดยเมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน สำนักงานอัยการสหรัฐฯ ในแมนฮัตตัน เริ่มสืบสวนว่า เอฟทีเอ็กซ์จัดการกับเงินของลูกค้าอย่างไร ด้านสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสำนักงานกำกับการซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของสหรัฐฯ ได้เปิดการสอบสวนเช่นกัน
เมื่อถูกถามว่าเขาจะมาที่สหรัฐฯ ได้หรือไม่ แบงก์แมน-ฟรายด์ตอบว่าเท่าที่เขารู้เขาสามารถไปได้ และเขาจะไม่แปลกใจหากเขาจะเดินทางไปยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อเข้าให้การต่อรัฐสภาในประเด็นเกี่ยวกับการล่มสลายของบริษัท
แบงก์แมน-ฟรายด์ กล่าวต่อที่ประชุมว่า เขาไม่รู้เรื่องการนำเงินทุนมาปะปนกันมาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ระบุว่า เอฟทีเอ็กซ์และอะลาเมดานั้นมีความเชื่อมโยงกันมากกว่าที่เคยตั้งใจเอาไว้อย่างมาก และเขาล้มเหลวในการให้ความใส่ใจต่อสถานะกำไรของอะลาเมดา โดยอธิบายว่าธุรกิจมีขนาดใหญ่เกินไป
นอกจากนี้ แบงก์แมน-ฟรายด์กล่าวด้วยว่า เขาไม่ได้เป็นผู้ดูแลอะลาเมดา พร้อมระบุเสริมว่า เราวิตกกังวลเกี่ยวกับความขัดแย้งทางผลประโยชน์ แต่ไม่มีใครรับผิดชอบด้านความเสี่ยงของเอฟทีเอ็กซ์ และอธิบายว่า การขาดการดูแลด้านความเสี่ยงและความขัดแย้งถือเป็นเรื่องผิดพลาด
เขายังกล่าวว่า ตอนนี้เขาแทบไม่เหลืออะไร และเหลือเพียงบัตรเครดิตที่ยังคงใช้การได้เพียงใบเดียว และเหลือเงินในบัญชีธนาคารราว 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 350,000 บาท.