• เหตุประท้วงมาตรการคุมเข้มโควิดในจีนเริ่มลุกลามรุนแรงเป็นวงกว้าง จนหลายชาติต่างจับจ้องว่าชนวนเหตุเหล่านี้อาจสั่นคลอนเก้าอี้ผู้นำสมัยที่ 3 ของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนได้หรือไม่
  • จากความไม่พอใจที่จำกัดอยู่ในโลกโซเชียล กลับกลายมาเป็นการเดินลงถนนในเมืองใหญ่ๆ เพื่อแสดงจุดยืนประท้วงภาครัฐอย่างชัดเจน เพื่อส่งเสียงสะท้อนไปยังทางการจีนให้ปรับเปลี่ยนมาตรการคุมโควิดโดยเร็ว
  • กระแสความไม่พอใจมาตรการคุมเข้มเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นการสะสมความไม่พอใจจากกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคุมโควิดให้เป็นศูนย์มายาวนานถึงเกือบ 3 ปี โดยที่ยังไม่มีใครรู้ว่ามาตรการนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด


กระแสความไม่พอใจที่ลุกลามกลายเป็นเหตุประท้วงตามเมืองใหญ่ๆ ดูท่าว่าจะไม่จบลงง่ายๆ แม้ว่าทางการจีนจะระดมกำลังตำรวจลงพื้นที่ประจำจุดต่างๆ เพื่อควบคุมการประท้วงไม่ให้ลุกลามบานปลายแล้วก็ตาม ชนวนเหตุเริ่มต้นที่ทำให้เกิดการประท้วงแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนครั้งนี้ มีที่มาจากหลายเรื่องราวรวมกัน วันนี้เราจะพาไปย้อนดูไทม์ไลน์ว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนหน้าที่จะนำมาสู่เหตุประท้วงครั้งประวัติศาสตร์ในครั้งนี้

...

กระแสความขุ่นเคืองใจในเซี่ยงไฮ้

การประกาศล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนจะเป็นชนวนเหตุสำคัญครั้งแรกที่จุดกระแสความไม่พอใจของประชาชนต่อมาตรการคุมเข้มโควิดให้เป็นศูนย์ของทางการจีน โดยครั้งนั้นก็มีการประท้วงย่อมๆ ของประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากภาวะขาดแคลนอาหาร ซึ่งแทบจะไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับมหานครใหญ่ที่ร่ำรวยของจีน

ในเดือนเมษายน มีการเผยคลิปเสียงของประชาชนที่รู้สึกสิ้นหวังและได้รับความเดือดร้อนจากมาตรการล็อกดาวน์ความยาว 6 นาทีถูกเผยแพร่ออกมา ก่อนที่คลิปจะถูกเซนเซอร์ไป

หลังจากนั้นในโลกโซเชียลก็เริ่มมีการโพสต์คลิปวิดีโอความไม่พอใจของประชาชนตามช่องทางต่างๆ เพื่อหลบหลีกการถูกบล็อก จนเกิดกระแสการประท้วงใหญ่ทางออนไลน์ นับตั้งแต่หมอหลี่ หรือนายแพทย์หลี่ เหวินเหลียงจักษุแพทย์ ผู้เปิดโปงเรื่องราวเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ในอู่ฮั่น เสียชีวิตในวัย 34 ปี จากการติดเชื้อไวรัสโคโรนาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2020

เหตุประท้วงในมหาวิทยาลัย

ในเดือนพฤษภาคม มีนักศึกษาหลายร้อยคนในวิทยาเขตแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยปักกิ่งในกรุงปักกิ่ง ออกมาประท้วงมาตรการคุมเข้มล็อกดาวน์ เพื่อต้องการให้นักศึกษาได้มีอิสระในการเคลื่อนไหวมากขึ้น โดยการประท้วงครั้งนี้ยุติลงหลังจากที่ทางการยอมผ่อนปรนที่จะยกเลิกมาตรการคุมเข้มบางอย่างลง โดยมหาวิทยาลัยทั่วประเทศจีนต้องล็อกดาวน์ตลอดช่วงของการระบาดของโควิด-19 ห้ามบุคคลภายนอกเข้าเยี่ยม และไม่อนุญาตให้นักเรียนนักศึกษากลับบ้านเพื่อป้องกันการระบาดด้วย

การประท้วงธนาคารเหอหนาน

ในช่วงเดือนพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม มีผู้ฝากเงินนับร้อยนับพันคนบุกประท้วงหน้าธนาคารประชาชนจีน สำนักงานเจิ้งโจว ในมณฑลเหอหนาน หลังจากโดนอายัดบัญชี เบิกถอนเงินไม่ได้มานานกว่า 90 วัน นอกจากนี้แอปพลิเคชันโควิด-19 ของรัฐ ที่ประชาชนทุกคนต้องลงทะเบียนใช้งาน ยังถูกติดตามความเคลื่อนไหว และถูกสกัดไม่ให้พวกเขาเดินทางออกนอกพื้นที่พักอาศัยเพื่อมาชุมนุมกันซึ่งประชาชนต่างกล่าวว่าเป็นความพยายามในการสกัดการประท้วงของภาครัฐ ก่อนที่ทางการจะเข้ามาแก้ไขปัญหา จับแก๊งอาชญากรรมท้องถิ่น และทยอยแก้ไขบัญชีที่ถูกอายัดให้กลับมาใช้งานได้ในภายหลัง

การประท้วงในทิเบต

ต่อมาในเดือนตุลาคม ชาวบ้านในเมืองลาซาของทิเบตก็รวมตัวกันประท้วงมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมายาวนานถึง 3 เดือนใกล้กับพระราชวังโปตาลา สถานที่ประทับขององค์ทะไลลามะ โดยคลิปวิดีโอที่เผยแพร่ออกมาจะเห็นประชาชนหลายร้อยคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้อพยพเชื้อสายฮั่น ที่ออกมาเดินขบวนตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐอนุญาตให้พวกเขาได้กลับบ้านเสียที

เหตุประท้วงที่สะพานซี่ตง ปักกิ่ง

...

ในเดือนเดียวกัน ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเพียงไม่กี่วัน มีผู้ประท้วงรายหนึ่งท้าทายรัฐบาลด้วยการนำป้ายผ้าที่เขียนด้วยลายมือ ที่มีข้อความวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีนมาติดไว้บนสะพาน โดยหนึ่งในป้ายผ้าระบุข้อความว่า "ไม่ต้องการตรวจโควิดแล้ว ฉันอยากทำมาหากิน ไม่เอาการปฏิวัติวัฒนธรรม ฉันอยากให้มีการปฏิรูป ไม่เอาล็อกดาวน์ ฉันต้องการอิสระ ไม่เอาผู้นำ ฉันต้องการโหวต ไม่เอาคำโกหก ฉันต้องการศักดิ์ศรี ฉันไม่ต้องการเป็นทาส ฉันจะเป็นพลเมือง" ส่วนอีกป้ายหนึ่งเขียนเรียกร้องให้ประชาชนออกมาประท้วงและโค่นล้มนายสี จิ้นผิง

เหตุปะทะที่กวางโจว

ในเดือนพฤศจิกายน เกิดเหตุปะทะกันระหว่างผู้ประท้วงในเมืองกวางโจว กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจากมีการประกาศขยายล็อกดาวน์ เนื่องจากพบการติดเชื้อเพิ่มขึ้น

โดยคลิปวิดีโอที่มีการแชร์ต่อกันในโลกออนไลน์ จะเห็นภาพของผู้ประท้วงหลายร้อยคนเดินประท้วงบนถนน มีการพังแนวกั้นที่ทางการใช้ปิดช่องทาง เพื่อไม่ให้ประชาชนออกมาจากที่พักอาศัยของพวกเขาได้ พร้อมกับตะโกนซ้ำๆ ว่า ไม่ต้องการตรวจโควิดแล้ว พร้อมขว้างปาข้าวของใส่ตำรวจด้วย

...

เหตุประท้วงโรงงานฟ็อกซ์คอนน์

เกิดเหตุประท้วงรุนแรงภายในโรงงานงานฟ็อกซ์คอนน์ โรงงานผลิตไอโฟนที่ใหญ่ที่สุดของโลกในเมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน โดยคนงานในโรงงานหลายร้อยคนต่างออกมาเดินขบวนประท้วง เนื่องจากไม่พอใจเรื่องค่าแรง และสภาพการทำงาน และการที่ต้องถูกล็อกดาวน์อยู่แต่ในโรงงานมานานนับตั้งแต่เดือนตุลาคม หลังพบผู้ติดเชื้อโควิดภายในโรงงานจนเกิดการปะทะกับตำรวจปราบจลาจล

อย่างไรก็ตาม หลังเกิดเหตุทางฟ็อกซ์คอนน์พยายามที่จะเสนอโบนัสพิเศษเกือบ 50,000 บาท ให้แก่พนักงานที่เต็มใจจะกลับมาทำงานต่อ เพื่อให้เหตุการณ์สงบลง

...

การประท้วงในอุรุมชี

คลิปวิดีโอที่เผยแพร่ในโลกโซเชียลช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นประชาชนจำนวนมากที่ออกมาประท้วงมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ตามท้องถนนในเมืองอุรุมชี เมืองเอกของเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ โดยผู้ประท้วงต่างเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหนักในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา

สำหรับชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการประท้วงในเมืองนี้ เกิดขึ้นหลังจากเหตุไฟไหม้อพาร์ตเมนต์แห่งหนึ่ง จนมีผู้เสียชีวิต 10 ศพ สาเหตุเกิดจากการที่พวกเขาถูกล็อกดาวน์ จนไม่สามารถหนีออกมาได้ทันเวลา และเจ้าหน้าที่ยังล่าช้าในการเข้าช่วยเหลือด้วย ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้ยิ่งเป็นเชื้อไฟ ทำให้กระแสความไม่พอใจในมาตรการล็อกดาวน์ขยายวงกว้างและแสดงออกมาชัดเจนมากขึ้น

เหตุการณ์ที่กล่าวมายังไม่รวมถึงเหตุโศกนาฏกรรมอื่นๆ ที่เกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ จนจุดกระแสความโกรธแค้นของประชาชนต่อภาครัฐ อย่างการเสียชีวิตของทารกในเมืองเจิ้งโจว การเสียชีวิตของเด็กหญิงวัย 14 ปีที่มณฑลเหอหนาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นเพราะมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดจนเกินไป ทำให้ผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้อย่างทันท่วงที

หลังจากนี้จึงต้องจับตาดูว่า นายสี จิ้นผิง ผู้นำของจีนจะมีท่าทีอย่างไร นอกเหนือจากการส่งกำลังตำรวจเข้ามาควบคุมสถานการณ์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกระแสความไม่พอใจที่ปะทุขึ้นนี้จะเสียงดังมากพอที่รัฐบาลจีนจะหันมารับฟังและเปลี่ยนแปลงนโยบายเกี่ยวกับการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้หรือไม่ เพราะยิ่งปล่อยไว้นาน การประท้วงที่เคยมุ่งโจมตีนโยบาย อาจจะเบนเข็มกลายไปเป็นการโค่นอำนาจของนายสี จิ้นผิง แทน ซึ่งจะยิ่งทำให้สถานะทางการเมืองของเขายิ่งตึงเครียดไปมากกว่านี้.

ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล