ตลอด 60 ปีที่ผ่านมาหอดูดาวท้องฟ้าซีกใต้แห่งยุโรปหรืออีเอสโอ (ESO) ได้ช่วยให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลกค้นพบความลับของเอกภพหรือจักรวาล เหตุการณ์หรือปรากฏการณ์สำคัญเหล่านั้นถูกบันทึกและนำเสนอเป็นภาพใหม่ๆ ที่น่าทึ่ง ถ่ายด้วยกล้องโทรทรรศน์วีแอลทีขนาดใหญ่มาก (VLT) ของหอดูดาวดังกล่าว

หนึ่งในภาพใหม่สุดน่าทึ่งที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ของอีเอสโอ ก็คือเนบิวลาทรงกรวย (Cone Nebula) ที่ค้นพบในปลายศตวรรษที่ 18 อยู่กลุ่มดาวยูนิคอร์น จะเห็นว่าเสากลางของเนบิวลาทรงกรวยนี้ยาว 7 ปีแสง เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ก่อตัวดาวขนาดใหญ่ที่ชื่อ NGC 2264 เนบิวลาทรงกรวยอยู่ห่างเราออกไปไม่ถึง 2,500 ปีแสง จัดว่าค่อนข้างใกล้โลก เป็นวัตถุที่ได้รับความสนใจตลอดมา แต่ภาพใหม่ที่ได้จากกล้องโทรทรรศน์ของอีเอสโอนั้นน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากแสดงให้เห็นลักษณะที่มืดหม่น มีเมฆหนาทึบ จนยากจะมองผ่านเข้าไปในเนบิวลา แลคล้ายสิ่งมีชีวิตบางชนิดในเทพนิยาย

นักดาราศาสตร์เผยว่า เนบิวลาทรงกรวยเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของรูปทรงคล้ายเสาที่ก่อตัวขึ้นในเมฆขนาดมหึมาของก๊าซโมเลกุลเย็นและฝุ่น อันที่รู้กันว่าเป็นโรงเพาะดาวดวงใหม่ๆ เสาประเภทนี้เกิดขึ้นเมื่อดาวฤกษ์สีฟ้าส่องสว่างและมีมวลมากที่เพิ่งก่อตัว ได้ปล่อยลมดาวฤกษ์และรังสีอัลตราไวโอเลตรุนแรงจนพัดพาวัสดุออกจากบริเวณใกล้เคียง เมื่อวัสดุนี้ถูกผลักออกไป ก๊าซและฝุ่นที่อยู่ห่างจากดาวฤกษ์อายุน้อยจะถูกบีบอัดจนหนาแน่น มืดมิด และมีรูปร่างคล้ายเสาสูง กระบวน การนี้ช่วยสร้างเนบิวลาทรงกรวยให้มีสีเข้มขึ้น.

Credit : ESO