ในโซเชียลมีเดียมีการเยาะเย้ยถากถางการใช้ภาษาอังกฤษของผู้นำประเทศ ผมขอเรียนในฐานะคนที่ชอบฟังคำปราศรัยของผู้นำประเทศต่างๆ ผู้นำโลกที่มีชื่อเสียงส่วนใหญ่ใช้ภาษาแม่ในการสื่อสาร และใช้ล่ามแปล
อย่างโฮจิมินห์เคยไปอยู่ทั้งฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และจีน ตั้งแต่อายุ 14 ปี เติ้งเสี่ยวผิงไปเรียนและทำงานอยู่ฝรั่งเศส 5 ปี จากนั้นจึงย้ายไปกรุงมอสโก แต่เมื่อเป็นผู้นำแล้ว เราไม่เคยได้ยินโฮจิมินห์ หรือเติ้งเจรจา เป็นภาษาฝรั่งเศส หรือภาษารัสเซียเลย
เจียงเจ๋อหมิน ผู้นำรุ่นที่ 3 ของสาธารณรัฐประชาชนจีน พูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ รัสเซีย เยอรมัน และโรมาเนีย ตอนที่ยังไม่ได้เป็นผู้นำ เจียงก็พูดภาษาเหล่านี้กับเพื่อนร่วมงาน จนเคยถูกพวกปฏิวัติวัฒนธรรมร้องเรียนว่าเป็นพวกเห่อฝรั่ง เจียงเก่งขนาดเคยเปิดติวภาษาอังกฤษและภาษารัสเซียฟรีให้เพื่อนร่วมงาน ทว่าระหว่างที่เป็นผู้นำ เจียงไม่เคยใช้ภาษาต่างประเทศปราศรัยหรือในการเจรจาเลย
ปูตินพูดภาษาเยอรมันได้ดี ทุกครั้งที่รับแขกจากเยอรมนี ปูตินต้อนรับขับสู้เป็นภาษาเยอรมัน แต่ในการประชุม ปราศรัย หรือเจรจาที่เป็นทางการ เราจะไม่เคยได้ยินภาษาต่างประเทศจากปากของปูตินเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ล่ามทั้งหญิงชายที่ตามไปแปลให้คณะผู้นำจีน มักจะเป็นที่ชื่นชอบของประชาชน อย่างเช่นจางจิง ผู้จบจากโรงเรียนภาษาต่างประเทศหางโจว และจบปริญญาตรีด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กลายเป็นดาวเด่นเพราะมีบทบาทสำคัญในการแปลระหว่างนักการทูตของจีนกับเจ้าหน้าที่สหรัฐฯที่รัฐอลาสกา
การเจรจาระหว่างประเทศในยุคปัจจุบัน บางครั้งได้รับการถ่ายทอดสด หรือมีการบันทึกเพื่อนำมาเผยแพร่ต่อ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบความเป็นไปของประเทศ กรณีของจางจิง นอกจากความสวยแล้ว เธอยังมีชื่อเสียงด้านการแปลภาษาได้แม่นยำ ถูกต้อง และอย่างมีไหวพริบ หลังจากไปเป็นล่ามให้คณะผู้แทนจีนที่อลาสกา 2 วัน ชื่อของเธอก็ถูกค้นหาบนโซเชียลมีเดียจีนมากกว่า 400 ล้านครั้ง
...
การใช้ล่ามที่เก่งและฉลาดรอบรู้ เป็นการป้องกันความผิดพลาดของการเจรจา ผู้นำอาจจะเผลอปล่อยคำที่ไม่แหลมคมออกไป แต่ถ้าล่ามแปลโดยการใช้ภาษาที่เฉียบคมเด็ดขาดและฉลาด ก็จะทำให้ประเทศไม่เพลี่ยงพล้ำ ประโยชน์ของชาติบ้านเมืองก็ไม่เสียหาย
นักการเมืองที่ไม่ได้มีอังกฤษเป็นภาษาแม่ แต่พยายามใช้ภาษาอังกฤษในการเจรจา ให้เก่งยังไง ก็อาจจะเพลี่ยงพล้ำได้ เพราะความลึกซึ้งและความชำนาญในการใช้ภาษาอังกฤษที่ตนมี ไม่มีทางสู้นักการเมืองต่างประเทศที่ใช้อังกฤษเป็นภาษาแม่ได้เลย
การใช้ภาษาแม่ในการเจรจาปราศรัยโดยมีล่ามแปล เป็นการประกาศก้องร้องตะโกนบอกโลกถึงเกียรติยศและศักดิ์ศรี ว่าประเทศของข้าฯมีรากเหง้า มีวัฒนธรรมประเพณีและมีภาษาของตนเอง คำว่า ‘ภาษาของข้า’ จะช่วยเพิ่มพลังอำนาจในการเจรจาต่อรอง
พ่อผมเคยสอนวิชา BP4916 (การเจรจาต่อรอง) ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งสอนอยู่นานกว่า 20 ปี มีทั้งนักศึกษาชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเรียนที่บ้านผมจึงเต็มไปด้วยตำราการเจรจาและม้วนวิดีโอประกอบการสอนที่เป็นการปราศรัยของผู้นำประเทศต่างๆ
การพูดของผู้นำที่ไม่ได้ใช้อังกฤษเป็นภาษาแม่ มักทำได้เพียงแค่สื่อสารได้ แต่ฟังแล้วจะไม่ค่อยประทับใจ ไม่ทรงพลัง ยกเว้นการพูดสั้นๆ อย่างเนลสัน แมนเดลา ซึ่งถ้าแกพูดคำคมเพียง 4–5 ประโยค ก็จะประทับใจ แต่ใครได้ฟังเทปการปราศรัยอย่างยาวของแมนเดลาที่พูดเป็นภาษาอังกฤษ ก็ไม่ประทับใจเหมือนกับที่แกพูดด้วยคำคมเพียงไม่กี่ประโยค
ประชาชนควรใช้ ‘ความรู้’ ‘ความสามารถ’ และ ‘ประสบการณ์’ เป็นมาตรฐานในการเลือกผู้นำของตน การหลงผิดไปเอาภาษามาเป็น ‘ตัวหลัก’ ในการชี้วัดจะทำให้ตัวเลือกแคบลง
ผู้นำระดับโลกที่เก่งภาษาต่างประเทศ รู้ภาษาต่างประเทศ เข้าใจภาษาต่างประเทศ จำนวนไม่น้อย ที่ไม่ใช้ภาษาต่างประเทศในการเจรจา
ภาษาต่างประเทศเป็นอาวุธลับ ที่ไม่ต้องเอามาโชว์ก็ได้.
นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com