• FTX ก่อตั้งในปี 2019 โดย แซม แบงค์แมน-ฟรายด์ อดีตนักเทรดแห่งวอลสตรีท โดย FTX มีทั้งบริการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี ไปจนถึงเป็นตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
  • FTX ประสบภาวะขาดสภาพคล่องอย่างหนัก หลังนักลงทุนแห่ถอนเงินราว 6,000 ล้านดอลลาร์ ภายในเวลา 72 ชั่วโมง หลังจากที่ ไบแนนซ์ ประกาศถอนการลงทุนทั้งหมดในเหรียญ FTT ที่ออกโดย FTX มูลค่าราว 2,100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • FTX ได้ยื่นขอความคุ้มครองล้มละลายกับศาลสหรัฐฯ พร้อมกับการก้าวลงจากตำแหน่งซีอีโอ ของแซม แบงก์แมน-ฟรายด์

ภายในเวลาไม่ถึง 8 วัน แซม แบงค์แมน-ฟรายด์ กลายสภาพจากมหาเศรษฐี เจ้าของฉายา "ราชาแห่งคริปโต" ไปสู่การยื่นขอล้มละลาย และก้าวลงจากตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ FTX นอกจากนั้น เขายังถูกสอบสวนจากสำนักสอบสวนกลางของสหรัฐฯ ถึงการบริหารการเงินของบริษัทที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย

ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โลกอินเทอร์เน็ตเต็มไปด้วยบทสัมภาษณ์ของแซม แบงค์แมน-ฟรายด์ ผ่านวิดีโอคอลจากโต๊ะทำงานของเขาที่ตั้งอยู่ที่หมู่เกาะบาฮามาส

แบงค์แมน-ฟรายด์ เป็นนักเล่นเกมตัวยง เขาอธิบายผ่านทวีตข้อความของเขาที่มีผู้สนับสนุนเกือบ 1 ล้านคนว่า การเล่นเกมต่อสู้ เป็นวิธีที่เขาจะเปลี่ยนโหมดจากการบริหารบริษัท 2 แห่งที่ต้องเทรดเงินมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

"บางคนคิดว่าผมคลายเครียดด้วยการดื่ม เล่นการพนัน แต่ผมเล่นเกมลีก ออฟ เลเจ็นดส์"

นับแต่อาณาจักรคริปโตเคอร์เรนซี ชื่อ FTX (เอฟทีเอ็กซ์) ของเขาล่มสลายในช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ข้อมูลที่เป็นเกร็ดถึงการชอบเล่นเกมขณะบริหารงานของเขา ผุดขึ้นและเป็นที่ถกเถียงในโลกออนไลน์

บล็อกโพสต์หนึ่งจากบริษัท ซีคัวญา แคปิตอล บริษัทด้านการลงทุนแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ระบุว่า แบงค์แมน-ฟรายด์ เล่นเกม ลีก ออฟ เลเจ็นดส์ อย่างจริงจังในระหว่างการประชุมวิดีโอคอลกับทีมลงทุนของทางบริษัท

...

อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ได้ทำให้ ซีคัวญา แคปิตอล ขุ่นเคืองใจแต่อย่างใด เพราะบริษัทเดินหน้าลงทุนเป็นเงิน 210 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กับบริษัท FTX ของแบงค์แมน-ฟรายด์ 

บริษัท ซีคัวญา แคปิตอล ไม่ได้เป็นนักลงทุนรายเดียวที่ต้องน้ำตาตก จากการสูญเงินลงทุนจำนวนมหาศาล หลังบริษัท FTX มูลค่ากว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ต้องล่มสลายลง

FTX มีผู้ใช้งานที่ลงทะเบียนไว้มากกว่า 1.2 ล้านคน เพื่อใช้แพลตฟอร์มในการเทรดซื้อขายโทเคนคริปโตเคอร์เรนซี เช่น บิตคอยน์ และอีกเงินหลายพันสกุล

นักเทรดเดอร์รายใหญ่ จนถึงผู้คลั่งไคล้การลงทุนในเงินคริปโตแบบรายวัน ต่างพากันสงสัยว่า พวกเขาจะได้เงินทุนที่ออมไว้อยู่ในกระเป๋าเงินดิจิทัลของ FTX คืนหรือไม่ หลังบริษัทล้มละลาย

แบงค์แมน-ฟรายด์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์ หรือเอ็มไอที ในสาขาฟิสิกส์และคณิตศาสตร์

แต่ แบงค์แมน-ฟรายด์ เปิดเผยว่า การศึกษาในเอ็มไอที ไม่ใช่ปัจจัยสู่ความสำเร็จ แต่เป็นบทเรียนที่เขาได้เรียนรู้ในหอพักนักศึกษา ที่ทำให้เขาร่ำรวย

เขาให้สัมภาษณ์กับบีบีซีเรดิโอ เมื่อเดือนที่แล้ว และย้อนถึงการได้เข้าร่วมในการขับเคลื่อน "การช่วยเหลือผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ" (effective altruism) ผ่านการเข้าร่วมในชุมชนของบุคคลที่พยายามหาแนวทางที่เป็นรูปธรรม ที่จะทำให้ชีวิตของพวกเราสร้างประโยชน์เชิงบวกต่อโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

แบงค์แมน-ฟรายด์ ตัดสินใจเข้าสู่วงการธนาคาร เพื่อหาเงินให้ได้มากที่สุด เพื่อนำเงินเหล่านี้กลับคืนสู่สังคม

เขาเล่าว่า ได้เรียนการเทรดหุ้นจากการเข้าไปทำงานที่บริษัท เจน สตรีท ในนครนิวยอร์กอยู่พักหนึ่ง ก่อนที่เขาจะเบื่อ แล้วหันไปลองทดลองเทรดบิตคอยน์

เขาสังเกตเห็นมูลค่าที่แตกต่างกันของบิตคอยน์ในแต่ละแพลตฟอร์มการแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล จึงเริ่มการซื้อบิตคอยน์จากที่หนึ่งที่ราคาต่ำกว่า แล้วนำไปขายที่อื่น เพื่อผลกำไรจากส่วนต่างของมูลค่า

หลังจากทำกำไรได้ระดับหนึ่ง เขาจึงรวมกลุ่มกับเพื่อนสมัยมหาวิทยาลัย ก่อตั้งบริษัท "อะลาเมดา รีเสิร์ช" ขึ้น ซึ่ง แบงค์แมน-ฟราย ยอมรับว่า การทำธุรกิจช่วงแรกไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะปรับเทคนิคการย้ายเงินเข้าและออกจากธนาคาร และข้ามพรมแดน แต่หลังจากผ่านไป 3 เดือน พวกเขาก็เจอความโชคดี 

จนเมื่อเดือนมกราคม 2018 ทีมของ แบงค์แมน-ฟรายด์ ทำเงินได้ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

ครั้งหนึ่ง ผู้สื่อข่าวสายธุรกิจของสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี ถามเขาว่า รู้สึกอย่างไร เขาตอบว่า "มันสมเหตุสมผลแล้ว แต่ลึกๆ มันก็ทำให้ผมรู้สึกประหลาดใจทุกวัน"

แบงค์แมน-ฟรายด์ กลายเป็นอภิมหาเศรษฐีหลายพันล้านอย่างเป็นทางการในปี 2021 จากบริษัทแห่งที่ 2 ของเขา นั่นคือ FTX ซึ่งต่อมากลายเป็นแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัลขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของโลก ที่มีการเทรดเป็นมูลค่า 10,000-15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อวัน

...

ช่วงต้นปี 2022 FTX มีมูลค่ามากถึง 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการตั้งชื่อสนามบาสเกตบอลตามชื่อบริษัท และมีผู้มีชื่อเสียงมากมายให้การยอมรับ รวมถึงนักบาสเกตบอลเอ็นเอฟแอล "ทอม เบรดี"

ในช่วงเวลาของความสำเร็จ แบงค์แมน-ฟรายด์ มักบอกเล่าถึงไลฟ์สไตล์ของเขาผ่านทวิตเตอร์อยู่เสมอ เขามักชอบนอนหลับบนถุงบีนแบ็กที่อยู่ข้างโต๊ะทำงานในออฟฟิศ พร้อมโพสต์ภาพตนเองนอนข้างๆ พนักงาน

ความฝันของเขาในการมอบเงินจำนวนมหาศาลเพื่อการกุศลนั้นเป็นไปได้ด้วยดี ในการสัมภาษณ์กับบีบีซีเรดิโอเมื่อเดือนที่แล้ว เขาอ้างว่า จนถึงตอนนี้เขาได้บริจาคเงินไปแล้วหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความเสียสละของเขายังไม่ใช่แค่กับองค์กรการกุศลต่างๆ โดยในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา "ราชาแห่งคริปโต" ยังได้รับชื่อเล่นว่า "อัศวินม้าขาวแห่งคริปโต" 

ในช่วงที่ตลาดแลกเปลี่ยนเงินคริปโตระส่ำระส่ายอย่างหนักในปีนี้ หรือที่เรียกว่า "ฤดูหนาวแห่งคริปโต" แบงค์แมน-ฟรายด์ ได้มอบเงินช่วยเหลือหลายร้อยล้านดอลลาร์เพื่อให้หลายบริษัทยังเดินหน้าต่อไปได้

เมื่อถามถึงสาเหตุที่เขาช่วยเหลือบริษัทต่างๆ เขาตอบว่า "ถ้าเราเจ็บหนักแล้วยอมแพ้ มันอาจไม่เป็นผลดีในระยะยาว และมันไม่เป็นธรรมกับลูกค้า" เขายังอ้างว่าเขามีเงินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นเงินทุนสำรองเพื่อช่วยเหลือบริษัทคริปโตที่กำลังย่ำแย่

...

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กลับกลายเป็นแบงค์แมน-ฟรายด์เอง ที่ต้องตระเวนไปตามบริษัทคริปโตต่างๆ เพื่อระดมเงินมาช่วยบริษัทและลูกค้าของเขา

ข้อสงสัยเกี่ยวกับสถานะทางการเงินของ FTX เริ่มจากบทความของสำนักข่าวคอยน์เดสก์ ที่ระบุว่างบการเงินของบริษัท อะลาเมดา รีเสิร์ช มีสินทรัพย์กว่า 1 ใน 3 อยู่ในรูปของเหรียญดิจิทัล ไม่ใช่สินทรัพย์อิสระ นอกจากนั้น วอลล์ สตรีท เจอร์นัล ยังรายงานว่าอะลาเมดา รีเสิร์ช ได้นำ FTT หรือเหรียญที่ออกโดยตัวเองไปค้ำประกัน เพื่อกู้เงินจาก FTX ออกมาใช้

จุดเริ่มต้นของการล่มสลายมาถึง เมื่อคู่แข่งรายสำคัญของ FTX อย่าง ไบแนนซ์ ประกาศขายโทเคนคริปโตที่เชื่อมโยงกับ FTX ทั้งหมดในอีกไม่กี่วันต่อมา โดย นายจางเผิง เจ้า ประธานเจ้าหน้าที่บริหารไบแนนซ์ ทวีตถึงผู้ติดตามกว่า 7.5 ล้านคนของเขาว่า ทางบริษัทจะขายเงินดิจิทัลเหล่านี้จากประเด็นที่ถูกเปิดเผย ที่นำไปสู่การเทขายเงินคริปโต FTX โดยบรรดาลูกค้าที่ตื่นตระหนกต่างแห่ถอนเงินหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐออกจาก FTX

แบงค์แมน-ฟรายด์ ได้สั่งระงับการถอนเงินออก และพยายามตระเวนระดมเงินมาช่วยเหลือบริษัท โดยในช่วงหนึ่ง ไบแนนซ์ ประกาศว่าสนใจจะซื้อบริษัท FTX ก่อนจะยกเลิก โดยให้เหตุผลว่า ได้รับรายงานหลายฉบับถึงการบริหารเงินทุนลูกค้าที่ผิดพลาด รวมถึงการสอบสวนของทางการสหรัฐฯ

...

ไม่กี่วันต่อมา บริษัท FTX ถูกประกาศสถานะล้มละลาย และ แบงค์แมน-ฟรายด์ ออกมาทวีตขอโทษว่า "ผมขอโทษจริงๆ ที่เรามาถึงจุดนี้"

"เราหวังว่าสิ่งต่างๆ จะกลับมาฟื้นตัวได้ หวังว่านี่จะนำไปสู่ความโปร่งใส ความเชื่อมั่นและธรรมาภิบาลต่อลูกค้า"

เขายังกล่าวว่า "รู้สึกตกใจที่สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นในลักษณะนี้"

นั่นส่งผลให้มูลค่าบิตคอยน์ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี และหลายคนสงสัยว่า FTX ยังสามารถล่มสลายลงได้ แม้จะมีผู้นำที่เก่งกาจเช่นนี้ แล้วใครจะเป็นรายต่อไป.

ที่มา บีบีซี