ในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อปี 2563 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน ให้คำมั่นจะดำเนินการอย่างแข็งขัน เพื่อบรรลุเป้าหมายปล่อยคาร์บอนถึงเพดานสูงสุดภายในปี 2573 ก่อนบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2603 เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสีเขียวของชาติที่ปล่อยมลพิษสูงสุดในโลก

จากนั้นเป็นต้นมา รัฐบาลจีนเร่งการลงทุน สนับสนุน และผลักดันโครงการพลังงานหมุนเวียนสำคัญมากมายหลายโครงการ ทั้งพลังงานแสง อาทิตย์ พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานลม ทดแทนถ่านหินและน้ำมัน เพื่อจัดการกับ มลพิษ สาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตในประชาชนหลายล้านคนทุกปี จนก้าวขึ้นเป็น ผู้นำด้านพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาดของโลก เป็นเจ้าของบริษัทผู้ผลิตโมดูลพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุด 5 ใน 6 แห่งของโลก

ขณะที่ พลังงานลม มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ข้อมูลเมื่อสิ้นปี 2564 ที่ผ่านมา พลังงานลมบนบกและนอกชายฝั่งทั้งหมดทั่วโลกสามารถผลิตไฟฟ้าได้เกิน 830 GW ขณะที่เป็นผลผลิตจากจีนมากกว่าครึ่ง หลังจากจีนติดตั้งฟาร์มกังหันลมนอกชายฝั่งมากกว่าประเทศอื่นๆในโลกในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีฟาร์มกังหันลมในเมืองจิ่วฉวน มณฑลกานซู่ เป็นฟาร์มพลังงานลมบนบกใหญ่สุดในโลก สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 20 กิกะวัตต์

แต่ความทะเยอทะยานของจีนยังไม่สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เพราะได้ประกาศแผนการสร้างฟาร์มกังหันลมอลังการกว่าเดิมเพื่อทำลายสถิติใหญ่สุดในโลก มีกำหนดเริ่มก่อ สร้างภายในไม่เกินปี 2568 เป็นฟาร์มกังหันนอกชายฝั่งที่เมืองเฉาโจว หรือชื่อเดิมเฉาอัน ทางตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง บริเวณทางสามเหลี่ยมปากแม่น้ำหาน ติดตั้งกังหันยักษ์ทรงพลังหลายพันตัว กินพื้นที่ยาว 10 กม. บริเวณนอกชายฝั่ง 75-185 กม. มีแผนผลิตไฟฟ้าให้ได้ 43.3 กิกะวัตต์ ใน 5 ปี เทียบได้กับหลอดไฟ LED จำนวน 4,300 ล้านดวง หรือบ้านเรือน 13 ล้านหลัง เพียงพอกับความต้องการพลังงานทั้งหมดของนอร์เวย์ทั้งประเทศ

...

จีนหวังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้ได้ 1 ใน 3 ภายในปี 2568 ซึ่งเหลือเวลาอีกไม่นาน แม้การเปลี่ยนผ่านพลังงานมีความก้าวหน้า แต่จากข้อเท็จจริงที่จีนยังปล่อยคาร์บอนมหาศาลมากกว่าชาติใดในโลก จึงทำให้ชาวโลกอดไม่ได้ที่ต้องช่วยลุ้นให้สำเร็จในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่กระทบทุกชีวิตบนโลก.

อมรดา พงศ์อุทัย