ในช่วงหลายปีมานี้ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ได้รับใช้และตอบโจทย์สิ่งที่มนุษย์ต้องการได้มากมายและในงานสำคัญๆอย่างการเกี่ยวข้องกับความเปลี่ยนแปลงไปของสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะการเชื่อมโยงให้เราได้รู้ถึงแต่ละเหตุการณ์ ความรุนแรงของสภาพอากาศและการปล่อยมลพิษที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งรายงานวิจัยมากกว่า 400 ฉบับก่อนหน้านี้ก็กล่าวถึงสถานการณ์ใหญ่ๆในโลก เช่น ไฟป่าในสหรัฐอเมริกา คลื่นความร้อนในเอเชียใต้ อย่างอินเดีย ปากีสถาน พายุไต้ฝุ่นในเอเชีย หรือปริมาณน้ำฝนที่ทำลายสถิติในอังกฤษ

อุทกภัยครั้งร้ายแรงในปากีสถานในช่วงเดือน ส.ค.ถือเป็นภัยพิบัติครั้งล่าสุดที่ก่อเกิดการสูญเสียและสร้างความเสียหายกลายเป็นวาระระดับโลก หลายประเทศหยิบยื่นความช่วยเหลือ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นก็มหาศาลเกินกว่าที่จะเยียวยาได้เร็ววัน งานวิจัยที่เปิดเผยเมื่อเร็วๆนี้ระบุว่า ปริมาณน้ำฝนมากถึง 50% จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วนชาติในแอฟริกาเองก็ระทมกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่แพ้กัน น้ำท่วมในไนจีเรียเอย ขณะที่โซมาเลียก็ประสบภาวะแห้งแล้ง ฯลฯ

การต้องเผชิญกับปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศขนาดเล็ก ซึ่งต้องมาแบกรับชะตากรรมอันยากลำบาก ก็ทำให้พวกเขาเริ่มที่จะหามาตรการนอกกระบวน การขององค์การสหประชาชาติ เช่น การตั้งคณะกรรมการเพื่อสำรวจประเภทของการชดเชยที่รัฐเกาะขนาดเล็กอาจพยายามให้ได้มาภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยกลุ่มประเทศที่นำโดยวานูอาตูก็กำลังมุ่งหน้านำเรื่องเข้าสู่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ใน การประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมขององค์การสหประชาชาติ (COP 27) เปิดฉากที่อียิปต์ตั้งแต่ 6 พ.ย.เสียงจากเหล่าประเทศกำลังพัฒนาจึงดังหนักขึ้น โดย ทวงถามหาความรับผิดชอบจากบรรดาชาติมหาอำนาจและชาติร่ำรวย ทั้งหลายแหล่ เพราะความเป็นไปของสภาพภูมิอากาศได้เดินหน้าเข้าสู่หุบเหวความหายนะขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ชาติเล็กๆต้องการก็คือ ชาติที่มั่งคั่งที่มีการปล่อยมลพิษสูงๆ ไม่ควรเพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องให้จ่ายเงินให้กับชาติที่กำลังพัฒนาหรือยากจนกว่า เพื่อบรรเทาอันตรายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งว่ากันตามตรงแนวคิดนี้เกิดขึ้นครั้งแรกโดยผู้แทนจากเกาะเล็กๆในประเทศกำลังพัฒนาเมื่อกว่า
30 ปีก่อนด้วยซ้ำไป

...

ใน COP 27 ประเทศกำลังพัฒนาระบุว่า ต้องการเงินช่วยเหลือ 1,000,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี สำหรับการดำเนินการด้านสภาพอากาศภายในสิ้นทศวรรษนี้ พร้อมร้องขอให้มีทุนสนับสนุนและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากรัฐบาลประเทศพัฒนาแล้วเพิ่มเป็น 2 เท่า จาก 3 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปีในขณะนี้ เป็น 6 หมื่นล้านดอลลาร์ ในปี 2568.

ภัค เศารยะ