ในปี 2535 มีการค้นพบสุสานในพื้นที่ชื่อ Majoonsuo ในเมืองอุโตคุมปู ทางตะวันออกของฟินแลนด์ ซึ่งได้รับความสนใจจากนักวิจัยตั้งแต่นั้นมาเพราะพบสีเหลืองสดซึ่งเป็นดินเหนียวที่อุดมด้วยธาตุเหล็กบนพื้นผิวของเส้นทางสัญจรใหม่ในป่า และพบสีแดงสดมีความเกี่ยวข้องกับศิลปะบนหินและแบบเดียวกับที่ใช้ตกแต่งในพิธีฝังศพโบราณ สำนักงานมรดกฟินแลนด์จึงเริ่มขุดสถานที่นี้ในปี 2561 เนื่องจากกังวลการกัดเซาะและรถยนต์สัญจร
นักโบราณคดีมองว่าสุสานแห่งนี้มีความพิเศษ เพราะในหลุมฝังพบฟันของผู้ตายเพียงไม่กี่ซี่ ระบุว่า เป็นของเด็กอายุ 3-10 ปี มีชีวิตอยู่เมื่อ 8,000 ปีก่อน และยังพบหัวลูกธนู 2 อันทำจากควอตซ์และวัตถุควอตซ์อีกสองชิ้นในหลุมศพ โชคดีที่ในหลุมศพมีการรักษาดินดั้งเดิมไว้เกือบสมบูรณ์ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ในฟินแลนด์ เก็บตัวอย่างดิน 65 ถุง รวมถึงเก็บตัวอย่างดินจากนอกหลุมศพเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน ดินทั้งหมดนำมาวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการโบราณคดี ผ่านการแยกสารอินทรีย์ออกจากดินด้วยการใช้น้ำ วิธีนี้ทำให้เส้นใยและเส้นขนถูกระบุด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนและภาพที่มีความละเอียดสูง ซึ่งพบเศษขนนกเล็กๆราว 24 ชิ้น และ 7 ชิ้นน่าจะเป็นของนกน้ำ ซึ่งยังเป็นเศษขนนกที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยพบในฟินแลนด์ เป็นไปได้ว่าเด็กจะถูกวางลงบนเตียงขนเป็ด หรือเด็กถูกสวมเสื้อผ้าที่ทำจากขนนกน้ำ ส่วนขนเหยี่ยวที่พบในหลุมศพอาจเป็นส่วนหนึ่งของลูกธนู และยังพบขนละเอียดตรงส่วนเท้าของเด็ก อาจเป็นขนสุนัขหรือหมาป่า เป็นไปได้ที่เท้าของเด็ก หรือเด็กอาจสวมรองเท้าที่ทำจากขนของสุนัขหรือหมาป่า
นักโบราณคดีเผยว่า ตัวอย่างที่เก็บมาได้จากสุสาน ถือเป็นหลักฐานสำคัญว่ามนุษย์ยุคหินปฏิบัติต่อผู้วายชนม์อย่างไร เนื่องจากสังคมยุคหินในฟินแลนด์นั้น เมื่อศพถูกฝังในหลุมดินแล้วเมื่อผ่านไปหลายพันปี ดินจะมีสภาพเป็นกรด ดังนั้นร่องรอยของหลักฐานทางโบราณคดีจึงหายากมาก.
...
Credit : Kristiina Mannermaa