ไม่มีใครอยากจะเชื่อว่าคืนวันเสาร์ 29 ต.ค.ที่ผ่านมา จะแปรเปลี่ยนจากค่ำคืนอันสนุกสนานกลายเป็นค่ำคืนอันน่าเศร้าสลด ภายในพริบตา

ย่านสถานบันเทิง “อิแทวอน” อันโด่งดังในกรุงโซลและเป็นที่คุ้นหูไปทั่วโลกจากซีรีส์ดราม่าอิแทวอน คลาส หรือธุรกิจปิดเกมแค้นเมื่อ 2 ปีก่อน กลับเป็นสถานที่ที่ 156 ชีวิต ต้องมาจบลงอย่างไม่สมควร หลังฝูงชนจำนวนมากเบียดเสียดกันตายภายในตรอกขึ้นเนินแคบๆกว้าง 3.2 เมตร ยาว 40 เมตร

จนเกิดคำถามว่า อะไรเกิดขึ้นในตอนนั้นกันแน่ ซึ่งก็มีทั้งกระแสว่า มีคนพบเห็นดารา คนเลยแห่กันเข้าไปในบริเวณดังกล่าว หรือกระแสว่าเกิดจากการที่มีคนกลุ่มหนึ่งคึกคะนอง ผลักกระแทกจนมีคนล้มคะมำ

แม้ผลการสืบสวนเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะระบุว่า ยังไม่พบหลักฐานบ่งชี้ว่าต้นเหตุเกิดจากอะไร แต่สิ่งที่สื่อหลายสำนักรายงานเหมือนกันก็มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

เดิมทีย่านอิแทวอนจะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน แต่คืนนั้น (29 ต.ค.) ถือเป็นคืนที่พิเศษกว่าปกติ เนื่องจากตรงกับเทศกาลฉลองวันปล่อยผี “ฮาโลวีน” และเป็นฮาโลวีนแรกนับตั้งแต่เกาหลีใต้ต้องอยู่ภายใต้มาตรการป้องกันโควิด-19 อันเข้มงวดมาเป็นเวลากว่า 2 ปี ซึ่งจากสถิติของทางการพบว่า ย่านอิแทวอนในช่วงเวลานั้นมีประชาชนและนักท่องเที่ยวออกมาเฮฮาปาร์ตี้กันมากกว่า 100,000 คน

...

ตรอกซอกซอยต่างๆไม่ว่าตรงจุดไหน ต่างเต็มไปด้วยชายหญิงที่แต่งองค์ทรงเครื่องรับเทศกาลกันอย่างเต็มยศ อย่างไรก็ตาม ตรอกขึ้นเนินบริเวณข้างโรงแรมฮามิลตันมีความหนาแน่นเป็นพิเศษในระดับที่ไม่มีที่ว่างให้เดิน คนถูกเบียดเสียดกันจนตัวติดกับกำแพง

มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับแจ้งความผิดปกติตั้งแต่เวลาประมาณทุ่มตรง และเรื่อยๆมาจนกระทั่งเกิดเหตุในเวลาประมาณสี่ทุ่ม คนที่หลั่งไหลเข้ามาไม่หยุดจากด้านบนเนินของตรอก ส่งผลให้คนเริ่มร้องตะโกนโวยวาย ด่าทอ หรือกรีดร้อง บางคนที่ทนไม่ไหว เริ่มทำการปีนกำแพงเพื่อหลบหนีจากแรงอัดที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

และทันใดนั้นเองก็มีคนล้มลง ทำให้เกิดปฏิกิริยาแบบตัว “โดมิโน” โดยการล้มเริ่มจากด้านบนเนินของตรอกและไหลลงไปด้านทางลงเนิน ซึ่งผู้รอดชีวิตในเหตุการณ์เล่าว่า ตอนนั้นทุกคนแทบจะล้มทับใส่กัน คนถูกซ้อนด้วยคนหลายชั้น และเจ้าหน้าที่ที่รุดหน้ามาถึงที่เกิดเหตุมีจำนวนไม่พอที่จะช่วยทุกคน

ขณะที่นายจาร์มิล เทย์เลอร์ ทหารอเมริกันประจำการอยู่ในเกาหลีใต้ที่อยู่ในเหตุการณ์และพยายามเข้าช่วยเหลือเล่าด้วยว่า “บริเวณด้านล่างของตรอกคือจุดอันตรายที่สุด มีคนถูกทับซ้อนกันสูงประมาณ 15 ฟุต (ราวๆ 4.5 เมตร) เสียชีวิตกันตรงบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก” ส่วนหญิงผู้รอดชีวิตไม่เปิดเผยชื่อรายหนึ่งเล่าด้วยว่า “ตอนติดอยู่ในตรอกแทบหายใจไม่ออกและที่รอดมาได้เพราะถูกเบียดกับกำแพง คนที่เคราะห์ร้ายที่สุดคือกลุ่มที่อยู่ตรงกลาง”

ทั้งนี้ ข้อมูลเชิงวิชาการจากการประชุมความปลอดภัยฝูงชนระดับนานาชาติ กรุงลอนดอน รวมถึงภาคความปลอดภัยด้านอัคคีภัย มหา วิทยาลัยกรีนิช อังกฤษระบุว่า ปริมาณฝูงชนในระดับความเสี่ยงต่ำจะอยู่ที่ 2-4 คนต่อตารางเมตร แต่ถ้ามีมากกว่า 6 คนต่อตารางเมตรขึ้นไปจะส่งผลให้เกิดการ “เบียดเสียดกัน” ในระดับที่คนในฝูงชนจะไม่สามารถเลือกได้ว่าต้องการเดินไปในทิศไหนและแรงกระแทกจากคนคนหนึ่งย่อมกระเพื่อมไปยังคนอื่นๆ เหมือนกับคลื่น นำไปสู่สถานการณ์ที่อันตรายมากนั่นคือการหกล้ม ซึ่งจะเรียกว่าการพังถล่มของคลื่นมนุษย์

หากมาถึงจุดนี้ให้มองภาพว่า คนที่เบียดเสียดกันหนาแน่นจะส่งแรงกระแทกสู่กันอย่างสม่ำเสมอ แต่ในเมื่อมีคนหนึ่งล้มลง ก็จะส่งผลให้เกิด “ช่องว่าง” แบบกะทันหัน แรงกระแทกเกิดการเสียสมดุล คนที่อยู่รอบๆคนล้มจะพากันล้มลงไปตรงช่องว่างดังกล่าว ต่อกันไปเป็นทอดๆในทิศทางใดทิศทางหนึ่งแบบระลอกคลื่น และแน่นอนคนที่ล้มลงจะเผชิญความเสี่ยงที่จะถูกทับโดยคนอื่นๆขึ้นอยู่กับว่ามากน้อยเพียงใด

นอกจากนี้ การเบียดเสียดในระดับดังกล่าวอาจส่งผลให้เกิดอาการขาดอากาศหายใจได้เช่นกัน ซ้ำร้ายฝูงชนที่อยู่ “หางแถว” ย่อมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่บริเวณด้านหน้า และพยายามดันต่อไปเพื่อไปยังจุดหมาย

โศกนาฏกรรมในลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าพิธีแสวงบุญเมืองมินา ชานนครเมกกะ ซาอุดีอาระเบียเดือน ก.ย.2558 ที่สำนักข่าวเอพีรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2,400 คน หรือเหตุเหยียบกันตายที่สะพานไดมอนด์เกท กรุงพนมเปญ ช่วงเทศกาลสาดน้ำกัมพูชาเดือน พ.ย.2553 มีผู้เสียชีวิต 347 คน

หนทางป้องกันสถานการณ์เช่นนี้คือการฝึกซ้อม “ควบคุมฝูงชน” อย่างมีประ สิทธิภาพ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้า ตั้งแผงกั้นชะลอจำนวนคน พร้อมลง พื้นที่ตรวจตรา สอดส่องสถานการณ์ และห้ามคิดเอาเองว่าฝูงชนจะปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าหน้าที่ ส่วนผู้ที่อยู่ในคลื่นมนุษย์ สิ่งที่ทำได้คือ หมั่นมองไปข้างหน้า ฟังเสียง และ ให้ไหลไปตามกระแส แต่อย่าหันหน้าตรง ให้เดินหันข้างแบบปู เพื่อหลักยืนที่มั่นคง.

...

วีรพจน์ อินทรพันธ์