อังคารเมื่อวาน ผมรับใช้ถึงการประชุมสมัชชาครั้งที่ 12 ที่มีการแก้ไขปรับปรุงธรรมนูญพรรค ให้เลิกตำแหน่งประธานพรรค เพื่อไม่ต้องการให้มีความคิดบูชาตัวบุคคล และสร้างตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคขึ้นมาแทน โดยมีหูเย่าปังเป็นเลขาธิการใหญ่พรรคคนแรก ส่วนผู้มีบารมีตัวจริงคือเติ้งเสี่ยวผิง เติ้งรับตำแหน่งประธานคณะกรรมาธิการทหารของคณะกรรมการกลางพรรค มีอำนาจเหนือกองทัพและกองกำลังติดอาวุธของจีน ตามหลักการพรรคนำปืน

ยุคเหมาเจ๋อตง จีนใช้นักปฏิวัติที่เป็นนักรบเป็นคณะผู้นำและกรรมการ พอถึงยุคเติ้ง เติ้งใช้คนมีความรู้ที่ส่วนใหญ่อายุไม่เกิน 60 ปี จีนสมัยเหมายากจนข้นแค้น ความใฝ่ฝันปรารถนาใหญ่คือ ต้องการให้คนจีน “พอมีพอกิน” ต่อมาก็ขยับจากพอมีพอกินมาเป็น “อยู่ดีกินดีถ้วนหน้า”

เติ้งสร้างยุทธศาสตร์ 2 ก้าว (ค.ศ.1981-2000) สร้างยุทธศาสตร์ 3 ก้าวให้จีนใช้เดินในศตวรรษที่ 21 เป้าหมายของเติ้งก็คือ อยากให้จีนมีขนาดเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ใน ค.ศ.2000 ความใฝ่ฝันอันสูงสุดของเติ้งคือ 50 ปีแรกของศตวรรษที่ 21 (ค.ศ.2001-2050) จีนจะต้องเป็นสาธารณรัฐประชาชนที่มีความเจริญในระดับปานกลาง เติ้งอยากให้เศรษฐกิจจีนมีจีดีพี 6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ อยากให้รายได้ต่อหัวของคนจีนเพิ่มเป็น 4 พันเหรียญสหรัฐฯต่อปี ขณะที่ผมเขียนคอลัมน์รับใช้ผู้อ่านท่านผู้เจริญ จีนก้าวไปได้ไกลกว่าที่เติ้งใฝ่ฝันปรารถนามาก

เพราะทรัพยากรไม่พอ คณะผู้นำจึงต้องพัฒนาไปที่ชนบทก่อน ยุคของเติ้งและของเจียง เมืองขนาดเล็กในชนบทจึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก วิสาหกิจเพื่อ “เศรษฐกิจสินค้า” เกิดขึ้นทุกทั่วหัวระแหง พอชนบทมีชีวิตชีวา มีความคึกคัก ก็ส่งผลให้เมืองใหญ่และมหานครมี “เศรษฐกิจคึกคัก” ตามไปด้วย เติ้งพัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตโดยประเทศและพรรคไม่ล่มเหมือนสหภาพ โซเวียต มีการประสานหลักลัทธิมาร์กซ์เข้ากับสภาพความเป็นจริงของระบอบสังคมนิยมจีน ทำให้การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนประสบความสำเร็จ

...

คณะผู้นำรุ่นอาวุโสที่มีบารมีสูงต่างทยอยลาออกจากคณะกรรมการกลางพรรค เพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่ที่มีความรู้เข้ามา คนรุ่นใหม่สมัยนั้น (แต่พอถึงตอนนี้ก็เก่าแล้ว) ก็เช่น หลี่เผิง หยาว อีหลิน เถียนจี้หยุน และเฉียวสือ หน้าที่ของคนรุ่นเก่าก็คือ เป็นแมวมองหาคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้และความสามารถเข้ามาเป็นคณะผู้บริหารประเทศ

ปัญญาชนจีนคนหนึ่งจบอักษรศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ ชื่อเจียงซื่อโหว (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเจียงซ่างชิง) มีลูกผู้หญิง 2 คน มีบุตรบุญธรรมเป็นเด็กชายชื่อเจียงเจ๋อหมิน ทว่าโชคไม่ดี พ่อบุญธรรมเจียงซ่างชิงตายเมื่อ ด.ช.เจียงอายุเพียง 13 ปี ครอบครัวฐานะไม่ดี ย่าจึงต้องเอากระถางธูปประจำตระกูลไปขายเพื่อเอาเงินมาให้ ด.ช.เจียงได้เรียนต่อ ความเป็นเด็กหัวดี ได้คะแนนท็อปในวิชาภาษาจีน ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เมื่อจบมัธยมปลายแล้ว เจียงก็สอบเข้าเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าของมหาวิทยาลัยเจียวทง ที่เซี่ยงไฮ้ได้

เจียงสมัครเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์ตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา พอมีการเปลี่ยนการปกครองจากสาธารณรัฐเป็นสาธารณรัฐประชาชน หนุ่มน้อยเจียงก็ทำงานกับพรรคคอมมิวนิสต์เพื่อสร้างสังคมใหม่ วิศวกรไฟฟ้าเจียงชอบแต่งกลอน เล่นเปียโน ร้องเพลงงิ้ว รู้ภาษาอังกฤษ รัสเซีย เยอรมัน และโรมาเนีย แต่งงานกับสตรีที่พูดภาษาต่างประเทศได้ดี

เจียงเริ่มต้นทำงานในโรงงานผลิตอาหารซึ่งเดิมเป็นของคนอเมริกัน ย้ายมาเป็นรองผู้อำนวยการโรงงานผลิตสบู่ซึ่งเป็นของคนอังกฤษที่ย้ายไปฮ่องกง เจียงได้รับหน้าที่เป็นผู้ไปเจรจาขอซื้อโรงงานผลิตสบู่ของคนอังกฤษมาเป็นของรัฐ ซึ่งก็ทำได้สำเร็จเรียบร้อย หลังจากนั้น ย้ายไปทำงานด้านวิจัยเครื่องจักรไฟฟ้าที่สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม ก่อนที่จะถูกส่งไปอยู่ที่โรงงานผลิตรถยนต์ในกรุงมอสโก กลับจากมอสโกก็ได้เป็นรองผู้อำนวยการฝ่ายของโรงงานผลิตรถยนต์ของจีน

ประวัติครอบครัว การศึกษา และการทำงาน ของวิศวกรไฟฟ้าเจียง “โดยละเอียด” ถูกแมวมองส่งไปให้เติ้งอย่างเงียบเชียบ.

นิติการุณย์ มิ่งรุจิราลัย
songlok1997@gmail.com