• ‘ริชี ซูแน็ก’ สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกฯ คนใหม่ของอังกฤษอายุน้อยที่สุดในรอบกว่า 200 ปี ด้วยวัยเพียง 42 และยังเป็นนายกฯ ซึ่งมีเชื้อสายเอเชียเป็นคนแรกของประเทศ อีกทั้งยังเป็นนายกฯอังกฤษคนแรกที่นับถือศาสนาฮินดู
  • ริชี ซูแน็ก เกิดที่เซาแธมป์ตัน หลังจากพ่อแม่ ซึ่งเป็นชาวอินเดียทั้งคู่ ได้อพยพจากแอฟริกามาอยู่ทางภาคใต้ของอังกฤษ จบการศึกษา MBA จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐฯ และเคยทำงานเป็นนักวิเคราะห์ด้านการเงิน อีกทั้งยังได้แต่งงานกับทายาทมหาเศรษฐีชาวอินเดีย
  • ตัดสินใจก้าวเข้าสู่เส้นทางการเมือง ริชี ซูแน็ก ลงสมัครรับเลือกตั้งได้เป็นส.ส.สมัยแรกในปี 2558 แต่เติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาเพียง 7 ปีเท่านั้น ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ และได้เป็นนายกฯคนใหม่ของอังกฤษ 

และแล้ว ริชี ซูแน็ก นักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรงในอังกฤษ ก็ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจอย่างเป็นเอกฉันท์ จากสมาชิก ส.ส.ของพรรครัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟ หรืออนุรักษนิยม ถึง 193 เสียง ให้เป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ และได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 หลังจากนายบอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีและนางเพนนี มอร์เดินท์ ประธานสภาสามัญชน หรือสภาผู้แทนราษฎร ได้ขอถอนตัวจากการแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ

ซูแน็ก ได้เป็นนายกรัฐมนตรี สืบต่อจากนางลิซ ทรัสส์ ที่ถูกกดดันจนต้องลาออก หลังจากได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษเพียงแค่ 45 วันเท่านั้น

...

สร้างประวัติศาสตร์การเมืองในอังกฤษ

ริชี ซูแน็ก นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ชายหน้าตาคมเข้ม ผมดำ ผิวสองสี วัย 42 ปีผู้นี้ ได้สร้างประวัติศาสตร์หลายอย่างจนต้องถูกบันทึกในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ

เริ่มตั้งแต่ ซูแน็ก เป็นชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อีกทั้งเขายังเป็นชาวอังกฤษเชื้อสายเอเชียคนแรกที่ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ 

นอกจากนั้น ซูแน็ก ยังเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนแรกที่นับถือศาสนาฮินดู และเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดของประเทศ นับตั้งแต่ปี 2355 เลยทีเดียว อีกทั้งซูแน็กยังสามารถทำลายสถิติที่อดีตนายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน หัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอายุน้อยที่สุด ด้วยวัยเพียง 43 ปี

ริชี ซูแน็ก
ริชี ซูแน็ก

พ่อแม่เชื้อสายอินเดียทั้งคู่ อพยพมาอยู่อังกฤษ

พ่อแม่ของซูแน็ก มีเชื้อสายอินเดียทั้งคู่ โดยได้ตัดสินใจเดินทางจากทวีปแอฟริกา มาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในอังกฤษ ตั้งแต่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 1960

พ่อของซูแน็ก เป็นแพทย์ ส่วนแม่เปิดร้านขายยา อยู่ที่เมืองเซาแธมป์ตัน มณฑลแฮมเชียร์  ทางใต้ของอังกฤษ โดยซูแน็ก เคยบอกว่า พ่อแม่มีส่วนทำให้เขาอยากจะทำงานรับใช้สังคม

ซูแน็ก เกิดที่เมืองเซาแธมป์ตัน ปี 2523 มีน้องชายและน้องสาวเกิดในอังกฤษเช่นเดียวกัน ซูแน็กเรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนเอกชนชื่อดัง ‘วินเชสเตอร์ คอลเลจ’ และเขาได้ทำงานหารายได้ ด้วยการเป็นพนักงานเสิร์ฟในช่วงปิดภาคเรียน

จากนั้น ซูแน็กได้ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ก่อนจะไปเรียนต่อด้านบริหารธุรกิจ ‘MBA’ ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดในสหรัฐอเมริกา

ริชี ซูแน็ก และครอบครัว
ริชี ซูแน็ก และครอบครัว

พบรักลูกสาวทายาทมหาเศรษฐีอินเดีย

ซูแน็ก ได้พบรักกับ อัคชาตา มูรตี บุตรสาวทายาทมหาเศรษฐีชาวอินเดีย นารายณ์ มูรตี ผู้ก่อตั้งธุรกิจไอที Infosys ขณะเรียนที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด และทั้งสองได้แต่งงานกันในปี 2552 มีลูกสาวด้วยกัน 2 คน คือ กฤษณา และอนุชกา ซูแน็ก

...

ริชี ซูแน็ก ทำงานเป็นนักวิเคราะห์ที่โกลด์แมนแซกส์ ในช่วง พ.ศ. 2544-2547 จากนั้นได้ทำงาน พร้อมกับเป็นหุ้นส่วนในเฮดจ์ฟันด์มูลค่าหลายพันล้าน 2 แห่ง จนถึงปี 2553
ต่อมา ซูแน็ก ได้เป็นผู้อำนวยการบริษัทการลงทุน Catamaran Ventures ซึ่งพ่อตาเป็นเจ้าของ ในช่วงปี 2556-2558

เดอะ ซันเดย์ ไทม์ เคยคาดประมาณความร่ำรวยของซูแน็ก และอัคชาตา ภริยา ว่าทั้งสองมีทรัพย์สินมหาศาลถึงประมาณ 730 ล้านปอนด์ หรือราว 31,390 ล้านบาท (คิดในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ปอนด์ เท่ากับ 43 บาท) ซึ่งมั่งคั่งกว่าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

เป็น ส.ส.เพียง 7 ปี ก่อนได้นั่งเก้าอี้นายกฯ

ซูแน็ก ได้ตัดสินใจเข้าสู่เส้นทางการเมือง ชนะเลือกตั้งได้เป็น ส.ส.สมัยแรกของเมืองริชมอนด์ ในเทศมณฑลนอร์ธยอร์กเชอร์ ในปี 2558 แต่สามารถเติบโตทางการเมืองอย่างรวดเร็ว ซูแน็กได้ร่วมในรัฐบาลของบอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ในตำแหน่ง รมช.คลัง เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2562 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รมว.คลังในเดือน ก.พ. 2563

...

ริชี ซูแน็ก และภริยา อัคชาตา มูรตี
ริชี ซูแน็ก และภริยา อัคชาตา มูรตี

โดนโจมตีเรื่องการเสียภาษีของภริยา

การถือหุ้นของอัคชาตา มูรตี 0.9% ในบริษัท Inforsys ซึ่งตั้งอยู่ในเมืองบังกาลอร์ ของอินเดีย ทำให้เธอต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เนื่องจากสถานะการเสียภาษีของมูรตี ในอังกฤษ คือ non-domiciled หรือชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศที่ไม่ใช่ภูมิลำเนาของตัวเอง จึงทำให้เธอไม่ต้องจ่ายภาษีรายได้ที่เกิดขึ้นนอกสหราชอาณาจักร และถือว่าไม่ได้ทำผิดกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม ต่อมา มูรตี ได้ตัดสินใจสละสถานะ non-domiciled ในเดือนเมษายน ที่ผ่านมา และเธอรับปากว่าจะจ่ายภาษีจากรายรับที่ได้มาจากทั่วโลกให้แก่สหราชอาณาจักร เพื่อลดแรงกดดันทางการเมืองต่อซูแน็ก ผู้เป็นสามี

...

ลงชิงนายกฯ 2 ครั้งในปีนี้

หลังจากบอริส จอห์นสัน ถูกกดดันจนลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือน ก.ค. 2565 ซูแน็ก อดีต รมว.คลัง ได้ลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่แข่งกับลิซ ทรัสส์ แต่ ลิซ ทรัสส์ เป็นฝ่ายชนะ ได้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 6 กันยายน 2565

ทว่าเพียง 6 สัปดาห์ต่อมา ลิซ ทรัสส์ ได้ถูกโจมตีจนต้องลาออก และทำให้ซูแน็ก ตัดสินใจลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่อีกครั้ง และเขาได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.พรรคคอนเซอร์เวทีฟ เกิน 100 เสียง ซึ่งเป็นคะแนนเสียงต่ำสุดที่จำเป็นในการลงสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ และจะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ

ริชี ซูแน็ก เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่พระราชวังบักกิงแฮม เพื่อพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ เมื่อ 25 ต.ค.2565 และนับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ในรัชสมัยของพระองค์
ริชี ซูแน็ก เข้าเฝ้าฯ พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่พระราชวังบักกิงแฮม เพื่อพระราชทานโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ เมื่อ 25 ต.ค.2565 และนับเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 2 ในรัชสมัยของพระองค์

อาสาเข้ามาแก้ไขวิกฤติเศรษฐกิจ

ซูแน็ก ซึ่งถือเป็นนักการเมืองที่สนับสนุน ‘เบร็กซิต’ สหราชอาณาจักรแยกตัวจากสหภาพยุโรปอย่างหนักแน่นจนสามารถแยกตัวได้สำเร็จในยุคอดีตนายกฯ บอริส จอห์นสัน ได้โพสต์ข้อความแรกทางโซเชียลมีเดีย ภายหลังได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ว่า

“สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ยิ่งใหญ่ แต่พวกเราเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจที่ลึกซึ้ง
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงกำลังยืนอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของท่าน ผมต้องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ สร้างความสามัคคีภายในพรรคของเรา และส่งมอบเพื่อประเทศชาติของพวกเรา”

ในขณะที่ บรรดาผู้สนับสนุนต่างหวังว่าสายตาของซูแน็ก ที่เชี่ยวชาญด้านสถิติและข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ จะช่วยทำให้การตัดสินใจในเรื่องเศรษฐกิจของชาติบ้านเมืองเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังรุมเร้าสหราชอาณาจักรอย่างหนักในเวลานี้.

ผู้เขียน : อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

ที่มา : BBC , theconversation