ดาวแคระแดง (Red dwarf stars) เป็นสมาชิกที่เล็กที่สุดและมืดที่สุดของ “ดาวที่เป็นดาวอย่างสมบูรณ์” ซึ่งเป็นดาวที่เปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นฮีเลียมในแกนดาวในอัตราคงที่ แม้ว่าดาวแคระแดงจะ “เย็น” เมื่อเทียบกับดาวฤกษ์อย่างดวงอาทิตย์ แต่ดาวแคระแดงสามารถตื่นตัวและปะทุด้วยเปลวไฟอันทรงพลังที่ทำลายดาวเคราะห์อื่นได้

เมื่อเร็วๆนี้ ทีมนักดาราศาสตร์จากห้องปฏิบัติการดาวเคราะห์และโลกของสถาบันวิทยาศาสตร์คาเนกี ในสหรัฐอเมริกา เผยว่า จากการใช้กล้องโทรทรรศน์ WIYN 3.5 เมตรที่หอดูดาวแห่งชาติคิตต์ พีค ในรัฐอริโซนา ศึกษาดาวเคราะห์นอกระบบที่คล้ายดาวพฤหัสบดี ชื่อ TOI-3757 b ที่โคจรรอบดาวแคระแดงเย็นดวงหนึ่ง ห่างโลกราว 580 ปีแสงในกลุ่มดาวสารถี ซึ่ง TOI-3757 b ระบุเป็นดาวเคราะห์ที่มีความหนาแน่นต่ำที่สุดที่เคยตรวจพบรอบดาวแคระแดง ทำให้เกิดความสงสัยว่าวิธีที่ดาวเคราะห์ก๊าซยักษ์ที่มีความหนาแน่นต่ำเช่นนี้ สามารถก่อตัวขึ้นรอบๆดาวแคระแดงนั้นเป็นไปได้อย่างไร

แม้จะยังไม่กระจ่างชัด แต่นักดาราศาสตร์ได้นำเสนอว่า ความหนาแน่นต่ำเป็นพิเศษของ TOI-3757 b อาจเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัย ประการแรกเกี่ยวข้องกับแกนหินของดาวเคราะห์ เชื่อว่าดาวก๊าซยักษ์เริ่มก่อตัวเป็นแกนหินขนาดใหญ่ที่มีมวลราว 10 เท่าของมวลโลกถึงจุดนั้นมันจะดึงก๊าซที่อยู่ใกล้เคียงจำนวนมากอย่างรวดเร็วเพื่อก่อตัวเป็นดาวก๊าซยักษ์ ประการที่ 2 อาจเป็นวงโคจรของดาวเคราะห์ ที่คาดว่าน่าจะเป็นวงรีเล็กน้อย ซึ่งช่วงที่มันเข้าใกล้ดาวฤกษ์ จะส่งผลให้เกิดความร้อนมากเกินไป จนทำให้ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์พองตัวนั่นเอง.

Credit : National Science Foundation