ในช่วงศตวรรษที่ 19 หรือถ้าให้เจาะจงคือปี ค.ศ.1827 หรือปี พ.ศ.2370 อังกฤษมี “นายกรัฐมนตรี” นามว่า จอร์จ แคนนิง ผู้ถูก บันทึกสถิติว่าดำรงตำแหน่งสั้นที่สุด 119 วัน

มาวันนี้สถิติใหม่ได้ถูกบันทึกแล้ว หลังเมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา “ลิซ ทรัสส์” วัย 47 ปี กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุการทำงานสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์แทนนายแคนนิง โดยมีอายุการทำงานเพียง 45 วัน

สาเหตุมาจากการเดินหมากพลาด ถูกรุม “ยำใหญ่” จนอยู่ไม่ไหว จากแผนลดภาษีเจ้ากรรม มูลค่า 45,000 ล้านปอนด์ หรือ กว่า 1.9 ล้านล้านบาท ที่ไม่ให้ความชัดเจนว่า จะกู้เงินจากใครและจะใช้คืนได้หรือไม่ ทำให้ตลาดการเงินเกิดความปั่นป่วน เงินปอนด์อ่อนตัวในรอบเกือบ 50 ปี แบงก์ชาติต้องเข้ามาแทรกแซง

สำนักข่าวบีบีซีอังกฤษรายงานว่า ในสัปดาห์นี้ หรือไม่เกินวันที่ 28 ต.ค. ก็จะรู้ผลว่าใครจะกลายเป็นนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรครัฐบาลอนุรักษนิยมคนใหม่ของอังกฤษ โดยจะผ่านกระบวนการคัดสรรภายในพรรค ผู้ที่จะเข้ามาเป็นตัวเต็งต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.อนุรักษนิยมเกิน 100 เสียง ซึ่งจะทำให้แคนดิเดตผู้นำครั้งนี้ มีได้ไม่เกิน 3 คน เนื่องพรรครัฐบาลมีจำนวน ส.ส. 357 คน

แม้ขณะที่เขียนคอลัมน์ จะยังไม่มีใครเสนอชื่ออย่างเป็นทางการ (เส้นตายเสนอชื่อคือ 14.00 น. วันที่ 24 ต.ค.) แต่สื่อท้องถิ่นต่างคาดการณ์ไว้แล้วว่า แคนดิเดตไม่ใช่ใครอื่นไกล เป็นตัวเต็งจากศึกเลือกตั้งภายในพรรคคราวที่แล้ว คือ “ริชี ซูนัค” อดีต รมว.คลังอังกฤษเชื้อสายอินเดีย วัย 42 ปี ที่พ่ายโหวตให้แก่นายกฯลิซ ทรัสส์

กลับมาให้ลุ้นกันอีกครั้งว่า อังกฤษจะได้ผู้นำสายเลือดอดีตอาณานิคมคนแรกหรือไม่ โดยอาจจะประชันกับ “บอริส จอห์นสัน” อดีตนายกรัฐมนตรีอังกฤษ วัย 58 ปี ที่เคยประกาศไว้ตอนถูกพรรคบีบให้ลาออกว่า พร้อมจะกลับมาทำงานเพื่อชาติบ้านเมืองอีกครั้ง หากสถานการณ์เรียกร้อง

...

และอีกหนึ่งตัวเต็ง “เพนนี มอร์ดอนท์” แกนนำพรรคอนุรักษนิยมในสภาผู้แทนราษฎร วัย 49 ปี อดีต รมว.กลาโหมหญิงคนแรกของอังกฤษ (ในยุคอดีตนายกฯเดวิด คาเมรอน) และในศึกเลือกตั้งภายในรอบก่อน อยู่อันดับที่ 3 ในตารางการชิงชัย รองจากริชี ซูนัค และนายกฯลิซ

นอกจากนี้ ยังมีชื่อ “เคมี บาเดนอช” รมว.การค้าระหว่างประเทศ วัย 42 ปี ปรากฏขึ้นมาเช่นกันในฐานะม้ามืดที่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.อาวุโสภายในพรรค และจากบทบาทโจมตีกระแสข้ามเพศ...ใครจะขึ้นมา อีกไม่นานเกินรอคงได้รู้กัน.

ตุ๊ ปากเกร็ด