• การเมืองในอังกฤษสั่นสะเทือนอีกครั้ง เมื่อลิซ ทรัสส์ ออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ
  • ทำไม ลิซ ทรัสส์ ต้องเผชิญกับกระแสกดดันอย่างหนักจนต้องลาออกตามหลังอดีตนายกฯ บอริส จอห์นสันไปติดๆ ทั้งที่รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่เพียงแค่ 45 วันเท่านั้น จนสร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดของอังกฤษ
  • พรรคคอนเซอร์เวทีฟเร่งกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ในวันศุกร์ที่ 28 ต.ค. ซึ่งจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ด้วย ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านให้ยุบสภา

การเมืองอังกฤษต้องร้อนฉ่าอีกรอบ ไม่มีใครคาดคิดว่า นายกรัฐมนตรีลิซ ทรัสส์ ‘จะมาเร็ว ไปไว’ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เมื่อ 20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ตามหลังอดีตนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสันไปติดๆ หลังจากทรัสส์ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีได้เพียงแค่ 45 วันเท่านั้น 

ทรัสส์ สร้างประวัติศาสตร์เป็นนายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดของอังกฤษ และเป็นนายกรัฐมนตรีคนสุดท้ายที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ณ พระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่เมื่อวันที่ 6 กันยายน ก่อนพระองค์จะเสด็จสวรรคตในอีก 2 วันต่อมา

ลิซ ทรัสส์ เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ณ พระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษเมื่อ 6 ก.ย.2565 ก่อนพระองค์จะเสด็จสวรรคตในวันที่ 8 ก.ย.2565
ลิซ ทรัสส์ เข้าเฝ้าฯสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธที่ 2 ณ พระตำหนักบัลมอรัล ในสกอตแลนด์ เพื่อทรงโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษเมื่อ 6 ก.ย.2565 ก่อนพระองค์จะเสด็จสวรรคตในวันที่ 8 ก.ย.2565

...

ทำไม ลิซ ทรัสส์ เผชิญกระแสกดดันจนต้องลาออก?

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ ต้องเผชิญมรสุมทางการเมืองลูกใหญ่ กระแสกดดัน ถูกโจมตีอย่างหนักจากสมาชิกภายในพรรครัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟ รวมทั้งพรรคเลเบอร์ พรรคฝ่ายค้าน และชาวอังกฤษจำนวนไม่น้อย จนต้องลาออกจากการเป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟและนายกรัฐมนตรีอังกฤษ

เป็นเพราะนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล เมื่อนายกวาซี กวาร์เทง รมว.คลังในขณะนั้น ได้ประกาศแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ 'งบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ' (mini-budget) มูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์ ในวันที่ 23 ก.ย. 2565 จนทำให้ตลาดเงินปั่นป่วน 

เพียง 3 วันต่อมา ค่าเงินปอนด์ได้ร่วงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเทียบกับเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากแผนลดภาษีของรัฐบาลลิซ ทรัสส์ ได้ทำให้สูญเสียความมั่นใจทางเศรษฐกิจ นักลงทุนเทขายพันธบัตร ส่งผลให้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างแรง กระทบต่อประชาชนที่มีหนี้สินกู้เงินจากสถาบันการเงินทันที

ลิซ ทรัสส์ 'ยอมถอยสุดซอย'

ทรัสส์ และกวาร์เทง รมว.คลังพยายามจะกู้สถานการณ์ ด้วยการยอมกลับลำยกเลิกมาตรการปรับลดภาษีเกือบทั้งหมดที่ประกาศไปก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะ เปลี่ยนใจไม่ลดภาษีคนรวย แต่ก็ไม่ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น จนทำให้เธอตัดสินปลดกวาร์เทง พ้นจากตำแหน่งรมว.คลัง และแต่งตั้งเจเรมี ฮันต์ เป็นรมว.คลังคนใหม่เมื่อ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา

ลิซ ทรัสส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เมื่อ 20 ต.ค.2565
ลิซ ทรัสส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เมื่อ 20 ต.ค.2565

แต่แล้ว ทรัสส์ ก็ไม่สามารถกอบกู้ศรัทธา ความเชื่อมั่นในตัวเธอให้สามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นผู้นำบริหารประเทศอีกต่อไปได้ เธอเผชิญกับกระแสกดดันอย่างหนักจากสมาชิกภายในพรรคและถูกโจมตีจากพรรคเลเบอร์ ฝ่ายค้านที่เรียกร้องให้ลาออก

20 ตุลาคม ที่ผ่านมา ทรัสส์ได้ตัดสินใจประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรครัฐบาลคอนเซอร์เวทีฟ ตามหลังนายบอริส จอห์นสัน ที่ถูกกระแสกดดันจากสมาชิกภายในพรรค จากการก่อเรื่องอื้อฉาวหลายครั้ง จนจอห์นสันต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2565

บอริส จอห์นสัน อาจลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซเวทีฟคนใหม่และจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษอีกครั้ง
บอริส จอห์นสัน อาจลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคอนเซเวทีฟคนใหม่และจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษอีกครั้ง

...

พรรคคอนเซอร์เวทีฟเร่งกระบวนการเลือกผู้นำพรรค-นายกฯใหม่

ภายหลัง ทรัสส์ ออกมาประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษแล้ว ไม่นานต่อมา เซอร์เกรแฮม เบรดี ประธานคณะกรรมการ 1922 หรือคณะกรรมการสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟ ได้กล่าวว่า จะมีการเลือกหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ที่จะได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในวันศุกร์หน้า วันที่ 28 ตุลาคม ตามเวลาท้องถิ่น

มีรายงานว่า นายบอริส จอห์นสัน กำลังรวบรวมเสียงสนับสนุนจากสมาชิกภายในพรรคคอนเซอร์เวทีฟเพื่อลงชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนใหม่อีกครั้ง โดยจอห์นสัน มีการพูดคุยเรียกร้องกับเหล่า ส.ส.ของพรรคคอนเซอร์เวทีฟเป็นการส่วนตัว รวมทั้ง นายริชี ซูนัค คู่แข่งคนสำคัญภายในพรรคให้สนับสนุนเขาเป็นหัวหน้าพรรคอีกรอบ

จึงทำให้ต้องจับตากันต่อไปว่าใครจะได้เป็นหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่และนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากพรรคฝ่ายค้านและประชาชนจำนวนไม่น้อย ที่ต้องการให้ยุบสภา เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ก่อนกำหนด.

ผู้เขียน :  อรัญญา ศรีจันทรนิตย์

...

ที่มา : BBC, Dailymail