คำว่า “มัมมี่” เมื่อใช้กับซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลไดโนเสาร์ จะเป็นคำที่ใช้อธิบายซากที่มีผิวหนังเป็นฟอสซิล ซึ่งค่อนข้างหายาก โดยทั่วไปแล้วฟอสซิลรูปแบบนี้จะเกิดขึ้นภายใต้ข้อกำหนดสภาวะพิเศษเท่านั้น และซากนั้นต้องได้รับการปกป้องจากการกัดเซาะและการสลายตัว โดยถูกฝังอย่างรวดเร็วหรือความชื้นถูกถ่ายออกไปจนแห้งเพื่อให้ผิวหนังกลายเป็นฟอสซิล
ทว่าเมื่อเร็วๆนี้ มีหลักฐานของไดโนเสาร์เอ็ดมอนโตซอรัส (Edmontosaurus) เป็นพวกไดโนเสาร์ปากเป็ดชนิดหนึ่ง ที่ขุดได้จากเมืองมาร์มัธ รัฐนอร์ทดาโกตา สหรัฐอเมริกา ในปี 2542 ซึ่งเป็นสมบัติของศูนย์มรดกและพิพิธภัณฑ์นอร์ทดาโกตา นักบรรพชีวินวิทยาใช้เวลาหลายปีในการไขปริศนาว่าเกิดอะไรขึ้นกับมัมมี่ไดโนเสาร์จากนอร์ทดาโกตา ในชีวิตและหลังความตายของมัน ตอนนี้ทีมวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับฟอสซิลเอ็ดมอนโตซอรัสได้ค้นพบข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว หลังพบว่ามีลักษณะที่ผิดปกติและเห็นได้ชัดเจนขึ้นระหว่างการทำความสะอาด
ทีมวิจัยระบุว่ามีรอยกัดและกรงเล็บที่ฟอสซิลเอ็ดมอนโตซอรัส ถือเป็นตัวอย่างแรกๆของร่องรอยความเสียหายบนผิวหนังไดโนเสาร์ที่ได้จากการกัดแทะของสัตว์กินเนื้อชนิดอื่น ทีมยังเสนอว่ารอยกัดแทะที่ไม่สมบูรณ์นี้จะเปิดเผยกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อมา นั่นก็คือผิวหนังและกระดูกของไดโนเสาร์จะค่อยๆ ถูกทำให้แห้งและถูกฝัง ซึ่งเป็นหลักฐานว่าสัตว์ที่กัดกินไดโนเสาร์เอ็ดมอนโตซอรัส น่าจะช่วยให้ไดโนเสาร์กลายเป็นมัมมี่นั่นเอง.