การพัฒนาสร้างหุ่นยนต์ที่เลียนแบบลักษณะและพฤติกรรมไม่ว่าจะเป็นของมนุษย์หรือของสัตว์หลายชนิดจะช่วยให้หุ่นยนต์มีศักยภาพการใช้งานตามที่ต้องการ อย่างเช่นการสร้างหุ่นยนต์ที่ใช้งานได้ทั้งบนบกและในน้ำ ก็ทำให้นักวิจัยหลายรายพยายามสร้างหุ่นยนต์เลียนแบบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำเพื่อใช้งานที่หลากหลาย

ล่าสุด ทีมวิจัยนำโดยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลและวัสดุศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเยล ในสหรัฐอเมริกา เผยว่าได้สร้างหุ่นยนต์ ART (Amphibious Robotic Turtle) โดยได้รับแรงบันดาลใจจากเต่าทะเลและเต่าบก นักวิจัยอธิบายว่าเต่าบกและเต่าทะเลมีรูปร่างคล้ายคลึงกัน มี 4 ขาและกระดอง แต่รูปร่างและท่าเดินของพวกมันมีความโดดเด่น เนื่องจากปรับให้เข้ากับสภาพแวดล้อม เต่าทะเลมีครีบยาวสำหรับว่ายน้ำ ในขณะที่เต่าบกมีขาที่โค้งมนเพื่อรองรับน้ำหนักขณะเดิน ซึ่งนักวิจัยระบุว่าหุ่นยนต์ ART สามารถบรรลุผลสำเร็จผ่านกระบวนการที่เรียกว่า morpho genesis โดยเดินบนบกด้วย 4 ขาในแบบที่หลากหลาย เมื่อไปถึงแหล่งน้ำ ART ก็เปลี่ยนขาของมันให้เป็นตีนกบ ทำให้ว่ายน้ำด้วยท่าเดินในน้ำแบบยกและลาก

ทีมเผยว่า เป้าหมายของการใช้งานหุ่นยนต์เต่า ART ก็คือการตรวจสอบระบบนิเวศตามแนวชายฝั่ง สนับสนุนการทำงานของนักประดาน้ำ การทำฟาร์มในมหาสมุทร หรือช่วยให้นักวิจัยศึกษาฟิสิกส์ของการเคลื่อนไหวในเขตที่มีคลื่นซับซ้อน เพราะคลื่น กระแสน้ำ และความขุ่น ทำให้อุปกรณ์นำทางทำงานได้ยาก.

(ภาพประกอบ Credit : Yale University)