การที่จะเป็น ผู้นำในโลกยุคปัจจุบัน ที่อะไรๆก็ขับเคลื่อนได้ด้วย โทรศัพท์มือถือ เพียงเครื่องเดียว ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบอนาคตจะรุ่งหรือพังพินาศ ก็เพราะโทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียว อานุภาพของ สื่อสังคมออนไลน์ ร้ายแรงขนาดไหน ไม่ต้องไปอธิบายให้เมื่อยตุ้ม เมื่อเป็นโลกของ เสรีประชาธิปไตย การวิพากษ์ วิจารณ์ ผู้นำบุคคลสาธารณะ ย่อมไม่มีขีดจำกัด การปกป้องสิทธิของตัวเองในทางกฎหมาย ไม่มีผลเท่ากับ มติของสาธารณชน ที่ ผู้นำจะต้องพิสูจน์ความมี ภาวะผู้นำ ภายใต้ จริยธรรม คุณธรรม และ นวัตกรรม ให้ได้ จึงจะสอบผ่าน

กรณีพาดพิงถึง ภาวะผู้นำ นานาจิตตัง จะไปโทษว่า สังคมไทยกำลังป่วย ก็คงไม่ผิด ประเภทผู้นำข้าใครอย่าแตะก็ไม่ถูก เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องของ ลิ่วล้อ เป็นกระแสกันพอหอมปากหอมคอ แล้วก็จบ ถ้าผู้นำวางตัวไม่ลงมาตอบโต้ หรือแสดงอาการไม่พอใจจนออกหน้าออกตาเสียอย่าง มองโลกในแง่ดี กลับเสริมภาพของวิสัยทัศน์ผู้นำให้ดูเปิดกว้างขึ้นด้วยซ้ำไป

เศรษฐกิจถดถอยเกือบทุกประเทศ ส่งผลถึงความเชื่อมั่นของรัฐบาลอังกฤษ มีปัญหาทั้ง เศรษฐกิจ เงินเฟ้อและค่าเงิน นายกฯอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ ที่ขึ้นมาแทน บอริส จอห์นสัน กลางเทอม กลายเป็นทุกขลาภ เพราะต้องเจอปัญหาหนักๆหลายเรื่อง ล่าสุด ถึงกับต้อง ปลด รมว.คลัง ควาซี ควาร์เต็ง ออกจากตำแหน่งทั้งที่เพิ่งจะตั้งขึ้นมา เนื่องจากชาวบ้านไม่ให้ความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจถดถอย ถือว่าเป็น วิสัยทัศน์ด้านนวัตกรรม ที่ยึดเอาสถานการณ์เป็นตัวตัดสิน ไม่มีการลูบหน้าปะจมูกเหมือนบ้านเรา จะปรับ ครม.ที ละล้าละลังไปหมด

มาตรการปรับลดภาษีครั้งใหญ่ของอังกฤษ ใช้วงเงินชดเชยประมาณ 45,000 ล้านปอนด์ หรือ 1.92 ล้านล้านบาท ไปจนถึงปี 2570 ที่แยกจากมาตรการเยียวยาครัวเรือนในประเทศจากวิกฤติพลังงานในวงเงิน 100,000 ล้านปอนด์ หรือ 427,544 ล้านบาท ที่ ควาซี แถลงด้วยตัวเอง ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะไปหารายได้มาจากไหน เงินจำนวนมหาศาลขนาดนั้น ทำให้ ค่าเงินปอนด์ผันผวนอย่างหนัก เข้าใจเจตนาของ รมว.คลังอังกฤษ คงต้องการสร้างคะแนนความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลชุดใหม่ แต่พลาดไปกระทบกับการเงินการคลังของประเทศเข้า ในระยะเวลาสั้นๆ นายกฯอังกฤษ ต้องไปดึง เจเรมี ฮันต์ อดีต รมว.ต่างประเทศ และ รมว.สาธารณสุข มาเป็น รมว.คลังแทน ควาซี ไปก่อน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ความเชื่อมั่นในนโยบายเศรษฐกิจของ รัฐบาลลิซ ดีขึ้น จนกว่าจะแก้ปัญหาความผันผวนค่าเงิน เงินเฟ้อ และปัญหาปากท้องของคนอังกฤษได้เห็นเป็นรูปธรรม

...

บ้านเราก็แปลก อย่างเราไม่ค่อยมองปัญหาที่ แก่นของปัญหา การปรับ ครม.ขึ้นอยู่กับ คนของใคร และเป็น อำนาจของผู้นำ ที่จะตัดสินใจเพียงคนเดียวเท่านั้น

ค่าเงินบาทอ่อนค่า เกือบจะ 39 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯแล้วรู้สึกว่าทุกอย่างยังเฉยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ในขณะที่ประเทศมีความต้องการใช้เงินจำนวนมาก ทุกวันนี้ ต้องใช้เงินกู้ เงินในอนาคตบริหารประเทศ เงินทุนสำรองลดลงอย่างน่าใจหาย ผู้นำเราก็ยังเฉยๆ

เช่นเดียวกับจีน ภายใต้นโยบายจีนเดียว โควิดเป็นศูนย์ เศรษฐกิจถดถอย ไม่เป็นอุปสรรค ผู้นำตลอดกาลของสี จิ้นผิง จริยธรรม คุณธรรม เป็นเรื่องของนามธรรม แต่นวัตกรรมทางความคิดเป็นรูปธรรมที่ผู้นำจะมองข้ามไม่ได้.

หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th