ผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร "Science Translational Medicine" ของสหรัฐฯ ระบุชัด ผู้ที่ต้องทำงานด้วยการเข้ากะ มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วน มากกว่าผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นเวลาตามปกติ และมีแนวโน้มจะเจ็บป่วยด้วยโรคภัยชนิดต่างๆ ได้มากกว่าคนที่ทำงานเป็นเวลา...

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานเมื่อ 12 เม.ย. โดยอ้างผลการวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร "Science Translational Medicine" ของสหรัฐฯ ที่ระบุว่า ผู้ที่ต้องทำงานด้วยการเข้ากะ มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วน มากกว่าผู้ที่ประกอบอาชีพเป็นเวลาตามปกติทั่วไป

ผลการวิจัยดังกล่าว ซึ่งจัดทำโดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จากโรงพยาบาลบริแกม แอนด์ วีเมน ในนครบอสตัน มลรัฐแมสซาชูเซตส์ ของสหรัฐฯ ระบุว่า ผู้ที่ต้องทำงานในลักษณะของการเข้ากะ ที่ต้องมีการสลับหมุนเวียนเวลากันทำงานระหว่างกลางวัน กลางคืน หรือสลับเช้า-บ่าย-ดึก มีความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคเบาหวานและโรคอ้วนได้มากกว่าคนที่ประกอบอาชีพในเวลาปกติทั่วไป เนื่องจากร่างกายของผู้ที่ต้องเข้ากะ จะไม่ได้รับการพักผ่อนที่ถูกต้องอย่างที่ควรจะเป็น และทำให้กลไก "นาฬิกาชีวิต" ในร่างกายทำงานผิดปกติ เนื่องจากช่วงเวลาที่คนกลุ่มนี้ได้นอนหลับ พักผ่อน หรือรับประทานอาหารนั้น เป็นช่วงเวลาที่ผิดปกติวิสัยจากมนุษย์ส่วนใหญ่ อันจะส่งผลต่อการปรับตัวของร่างกายในระยะยาวอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

ผลการวิจัยยังพบว่า ร่างกายของผู้ที่ประกอบอาชีพด้วยการเข้ากะ เช่น พนักงานฝ่ายผลิตตามโรงงาน นักข่าว เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย วิศวกรตามแท่นขุดเจาะน้ำมัน ฯลฯ มักประสบปัญหาในการควบคุมระดับน้ำตาล และมีแนวโน้มจะเจ็บป่วยด้วยโรคภัยชนิดต่างๆ ได้มากกว่าคนที่ทำงานเป็นเวลาอีกด้วย.

...

ด้าน นพ.ออร์ฟิว บักซ์ตัน หนึ่งในทีมวิจัย ออกมาให้ความเห็นว่า ผลการวิจัยเป็นการยืนยันถึงอันตรายของการทำงานแบบเข้ากะ  ต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานอย่างเห็นได้ชัด พร้อมเรียกร้องให้บรรดานายจ้าง รวมถึงผู้เกี่ยวข้องหันมาใส่ใจและเพิ่มความพยายามในการดูแลสุขภาพของพนักงานกลุ่มนี้ให้มากขึ้น และควรหาทางลดทอนผลกระทบที่เกิดจากการเข้ากะอย่างจริงจัง.